การทำ “วิดีโอ สตรีมมิ่ง” เริ่มต้นมาจากวงการเกมและกีฬา จากนั้นบริษัทอีคอมเมิร์ซจึงนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้บนแพลตฟอร์มของตนเพื่อเพิ่มช่องทางขายสินค้าที่เรียกว่า “ไลฟ์สด” ซึ่งเติบโตเป็นอย่างมากทั่วโลก โดยเฉพาะที่ “ประเทศจีน”
การระบาดของโควิด-19 ทำให้การไลฟ์สดขายสินค้าเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ใช้งานและประเภทสินค้าซึ่งมีตั้งแต่สินค้าเครื่องใช้ทั่วไป ลิปสติก รถบรรทุก จนถึงจรวด อย่าง “ซานี่ ทรัก” ผู้ผลิตรถบรรทุกชั้นนำของจีนได้จัดตั้งทีมขายผ่านช่องทางไลฟ์ขึ้นมาในช่วงล็อกดาวน์ และเมื่อ เม.ย. 2020 ได้จัดงานเปิดตัวรถบรรทุกรุ่นใหม่ผ่านทางไลฟ์สตรีมมิ่ง ซึ่งสามารถสร้างยอดสั่งจองรถรุ่นดังกล่าวได้ถึง 600 คัน และเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา “ซานี่ ทรัก” ยังได้สตรีมมิ่งขายรถบรรทุกบนแพลตฟอร์ม “โตวหยิ่น” หรือที่ทั่วโลกรู้กันในชื่อ “TikTok” ซึ่งสามารถทำยอดขายได้ถึง 186 คัน ภายใน 2 ชั่วโมง
ขณะที่ “โกลบอล ไทมส์” รายงานว่า เมื่อ 1 เม.ย. 2020 “Viya” อินฟลูเอนเซอร์ชาวจีนเป็น “สตรีมเมอร์” ชื่อดังได้ทำการไลฟ์บนแพลตฟอร์ม “เถาเป่า” สามารถขายจรวดเชิงพาณิชย์ของ “เอ็กซ์เปซ เทคโนโลยี” มูลค่ากว่า 45 ล้านหยวน และปัจจุบันพบว่า “ซีอีโอ” บริษัทจีนได้โดดเข้ามาเป็น “สตรีมเมอร์” เอง เช่น กรณี “หมิน ตงจู” ประธานบริษัท “กรี อิเล็กทริกส์” ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจีน รวมถึง “เฉิน เผิง” ซีอีโอของ “วอเตอร์ดอรป” โบรกเกอร์ประกันภัย ได้ทำการไลฟ์ขายสินค้าเอง จนได้รับความนิยมจากผู้บริโภคบนโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก
เทรนด์การเติบโตนี้ “อ้าย เหม่ย” (iiMedia) บริษัทผู้ให้บริการข้อมูลทางธุรกิจสัญชาติจีน คาดการณ์ว่าภายในปี 2020 จำนวนผู้เข้าชมการไลฟ์สดขายสินค้าในประเทศจีนจะพุ่งขึ้นสู่ระดับ 526 ล้านคน ขณะที่ขนาดตลาดของการสตรีมมิ่งขายสินค้าจะอยู่ที่ราว 916,000 ล้านหยวน
ขณะที่ธุรกิจอีกจำนวนมากที่ยังขาดความชำนาญจึงจำเป็นต้องจ้าง “อินฟลูเอนเซอร์” เพื่อให้ช่วยไลฟ์ขายสินค้าซึ่งต้องจ่ายค่าจ้าง “อินฟูลเอนเซอร์” ในอัตราที่สูงมาก “เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์” รายงานอ้างแหล่งข่าวระบุว่า ต้นทุนการว่าจ้างสตรีมเมอร์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือค่าจ้างการไลฟ์ประมาณ 100,000-300,000 หยวนต่อการไลฟ์ 1 ครั้ง กรณี “อินฟลูเอนเซอร์” ที่มีชื่อเสียง นอกจากนี้บริษัทยังต้องจ่ายค่าคอมมิสชั่นให้อีกราว 20-30% ของยอดขายสินค้า
“ดาเมียน ไมอา” ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร “เจนอิว เยอรมัน” บริษัทที่ปรึกษาสร้างแบรนด์และขยายตลาดในประเทศจีนให้กับธุรกิจยุโรป เปิดเผยว่า ธุรกิจหลายแห่งได้ลงทุนว่าจ้างอินฟลูเอนเซอร์มูลค่าหลายล้านหยวน/เดือน ซึ่งแม้ว่าจะสามารถเพิ่มยอดขายได้มากแต่บริษัทกลับไม่กำไรในการขาย เนื่องจาก “อินฟลูเอนเซอร์” ยังมักจะต่อรองให้ธุรกิจลดราคาสินค้าลงมาเป็นพิเศษสำหรับการไลฟ์ เพื่อรักษาและเพิ่มฐานแฟนคลับจากการได้ซื้อสินค้าราคาถูก
ผู้บริหารของ “เจนอิว เยอรมัน” รายนี้กล่าวว่า บริษัทลูกค้าของตนรายหนึ่งถูก “สตรีมเมอร์” ต่อรองให้ลดราคาขายสินค้าลงถึง 40% ผ่านการไลฟ์ ซึ่งบริษัทก็ไม่สามารถต่อรองกับอินฟลูเอนเซอร์ได้มากนัก จึงจำใจต้องยอมรับดีลลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้ง ในกรณีของการลดราคาสินค้านั้น รายงานข่าวได้กล่าวอ้างถึง “แม็กกี้ หลี่” นักช็อปตัวยงผ่านช่องทางไลฟ์ ซึ่งเปิดเผยว่า “หลี่เจียฉี” อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังผู้ได้รับฉายาว่า “ราคาลิปสติก” จากวีรกรรมการไลฟ์ขายลิปสติก 15,000 แท่ง ภายในเวลา 5 นาที ได้เคยไลฟ์ขายกาแฟลาเต้ชนิดแคลอรีต่ำในราคา 38.5 หยวน/5 แก้ว ซึ่งถูกกว่าราคาที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตในราคา 16 หยวน/แก้ว
ถึงแม้ว่าธุรกิจจะขาดทุน ทว่า “เฉิน เถา” นักวิเคราะห์ตลาดอีคอมเมิร์ซชี้ว่า ธุรกิจสามารถสร้างการรับรู้ของผู้บริโภคต่อสินค้าได้อย่างดี ดังนั้นบริษัทจึงควรมองว่าการสตรีมมิ่งขายสินค้าว่าเป็นการโฆษณาอย่างหนึ่งที่มีประสิทธิภาพกว่าการโฆษณาผ่านช่องทางเก่า ๆ เช่น ทีวี วิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์ อย่างไรก็ตาม มุมมองของ “เฉินเทา” ยังต้องถกเถียงกันอยู่และไม่สามารถสรุปได้ว่า การไลฟ์สดขายสินค้าจะเป็นการโฆษณาสินค้าที่มีคุณภาพ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ “อินฟลูเอนเซอร์” เป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์อย่างมากจากการเติบโตของเทรนด์นี้อย่างแน่นอน