โควิดดัน “ราคาทองคำ” ร้อนแรง “สินทรัพย์ปลอดภัย” ยามวิกฤต

แนวโน้ม ราคาทองคำ
FILE PHOTO: REUTERS/Edgar Su/File Photo

การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง และผลักดันให้การค้าการลงทุนทั่วโลกเข้าสู่ภาวะไร้เสถียรภาพ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงสามารถดึงดูดนักลงทุนได้ จากความแข็งแกร่งและการมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก็คือ “ทองคำ” ในฐานะทรัพย์สินที่มีความปลอดภัยสูงท่ามกลางวิกฤตการณ์ในขณะนี้

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า ราคาทองคำได้ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 19% นับจากต้นปี 2020 โดยได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำติดดิน พร้อมกับมาตรการปั๊มเงินอัดฉีดเศรษฐกิจของธนาคารกลางหลายประเทศทำให้เกิดความเสี่ยงต่อค่าเงิน รวมทั้งมุมมองของผู้กำหนดนโยบายการเงินที่ต่างมองว่า “ทองคำ” ยังคงมีเสถียรภาพและเป็น “สินทรัพย์ปลอดภัย” (safe haven) ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อและการเสื่อมค่าของสกุลเงิน

“ดาวิด เมเกอร์” ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าโลหะของไฮ ริดจ์ ฟิวเจอร์ส ระบุว่า “ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาทองสูงขึ้นคือ แรงกระตุ้นจากมาตรการการเงินและการคลัง การอัดฉีดสภาพคล่องทางการเงินอย่างต่อเนื่องในตลาด ที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง”

แม้ว่าในช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ตลาดทองคำจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก เนื่องจากภาคธุรกิจและเอกชนจำนวนมากต่างเทขายทองคำ เพื่อเร่งการเพิ่มกระแสเงินสด แต่หลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย นักลงทุนก็เริ่มหันกลับไปสู่ตลาดทองคำมากขึ้น

สภาทองคำโลกระบุว่า ในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา กองทุนอีทีเอฟ (ETFs) ทั่วโลกมีเงินไหลเข้าไปซื้อทองคำเพิ่มขึ้นถึง 39,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้กองทุนเพิ่มการถือครองทองคำอีก 27% หรือ 734 ตัน และส่งผลให้กองทุนอีทีเอฟถือครองทองคำสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 3,621 ตัน

ขณะที่รอยเตอร์สรายงานว่า “เอสพีดีอาร์ โกลด์ ทรัสต์” (SPDR Gold Trust) กองทุนทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้มีการเพิ่มการถือครองทองคำสุทธิ 0.3% เป็น 1,203.97 ตัน เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา และได้มีการซื้อสุทธิต่อเนื่องตลอด 18 สัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นภาพสะท้อนความคึกคักของนักลงทุนในตลาดทองคำ

“เจฟฟรีย์ แฮลลีย์” นักวิเคราะห์อาวุโสของโออันดา (OANDA) บริษัทโบรกเกอร์ฟอเร็กซ์รายใหญ่ของสหรัฐระบุว่า “ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงอย่างมาก เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาทองคำยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างแข็งแกร่ง”

ทั้งนี้ช่วงต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ราคาทองคำได้พุ่งสูงทะลุระดับ 1,800 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ครั้งแรกเป็นประวัติการณ์ จากระดับ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ในช่วงปลายปี 2019 และล่าสุด (23 ก.ค.) ราคาทองคำโลก หรือ Gold Spot อยู่ที่ 1,883 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

“อัลเบิร์ต เฉิง” ซีอีโอสมาคมตลาดทองคำสิงคโปร์ระบุว่า ราคาทองคำอาจเพิ่มขึ้นทำลายสถิติอีกครั้ง ทะลุ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ภายในสิ้นปีนี้

ขณะที่ซีเอ็นบีรายงานว่า บรรดาธนาคารยักษ์ใหญ่ทั้งธนาคารยูบีเอส, โกลด์แมน แซกส์ และเวล ฟาร์โก รวมถึงธนาคารแห่งอเมริกา คาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ราคาทองคำโลกมีสิทธิ์ทะลุ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ในเร็ว ๆ นี้ และมีโอกาสที่จะพุ่งแตะ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ภายใน 2 ปี หากสถานการณ์ทั่วโลกยังคงอยู่ในความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ธนาคารแห่งอเมริกาคาดว่าราคาทองคำเฉลี่ยในปี 2021 จะอยู่ที่ระดับ 2,063 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์