คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก นงนุช สิงหเดชะ
เป็นที่ทราบกันดีว่าดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินทรงอิทธิพลอันดับ 1 ของโลก โดยธนาคารกลางประเทศต่าง ๆนิยมเก็บไว้เป็นทุนสำรองต่างประเทศ อีกทั้งการซื้อขายทั่วโลกส่วนใหญ่ก็นิยมชำระด้วยดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งช่วงแรก ๆ ที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 และศูนย์กลางการระบาดยังไม่ย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกา เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าที่สุดในรอบ 3 ปีครึ่งในเดือนมีนาคม เนื่องจากบรรดานักลงทุนแสวงหาสินทรัพย์ ที่ปลอดภัยด้วยการเข้าซื้อดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม หลังจากสหรัฐอเมริกากลายเป็นศูนย์กลางการระบาดและขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต ทำให้สถานการณ์กลับกลายเป็นตรงกันข้าม โดยดอลลาร์อ่อนค่าที่สุดในรอบ 2 ปีในวันที่ 27 กรกฎาคม เนื่องจากนักลงทุนหันไปหาทองคำแทน สภาวการณ์ดังกล่าวเริ่มถูกตั้งข้อสังเกตว่านี่คือ สัญญาณของการเข้าสู่ยุคใหม่แห่งการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ
บรรดานักวิเคราะห์ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้ดอลลาร์สหรัฐ “ถูกเท” เป็นเพราะสหรัฐตามหลังประเทศอื่น ๆ อย่างมากในแง่ของการยับยั้งการระบาด และคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น ๆ รวมทั้งยุโรป นอกจากนี้การต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส ก็ทำให้ระดับการขาดดุลของสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็นภูเขาเลากา ประจวบกับดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมากเป็นพิเศษเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ล้วนเป็นปัจจัยทำให้ค่าดอลลาร์อ่อนลง
มาร์ก แชนด์เลอร์ หัวหน้านักกลยุทธ์การตลาดของแบนน็อกเบิร์น โกลบอล ฟอเรกซ์ ชี้ว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในลักษณะสวนทางกับดอลลาร์สหรัฐเกิดขึ้นเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เพียงแต่ค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่เท่านั้นที่เคลื่อนไหวสวนทาง แต่ยังมีผู้เล่นรายอื่นเข้าร่วมมากขึ้นด้วย ทั้งบรรดาผู้จัดการสินทรัพย์ นักเก็งกำไร และกลุ่มใหญ่ ๆ อย่างกองทุนป้องกันความเสี่ยง ต่างเห็นว่าอนาคตดอลลาร์สหรัฐไม่สดใส
นับตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 4.9% เมื่อเทียบกับยูโร เนื่องจากมีการคาดหมายว่าเศรษฐกิจยุโรปจะฟื้นตัวดีกว่าสหรัฐ อ่อนลง 2.5% เมื่อเทียบกับเยนของญี่ปุ่น อ่อนลง 6.4% เมื่อเทียบโครนาของสวีเดน อ่อนลง 4% เมื่อเทียบกับดอลลาร์นิวซีแลนด์ ส่วนค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ก็ล้วน
แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เช่น ค่าเงินเรียลของบราซิลแข็งค่าขึ้นกว่า 6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเปโซของเม็กซิโกแข็งขึ้น 4.9% ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งใช้วัดการเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐเทียบกับตะกร้าเงิน พบว่าอ่อนลง 3.77% ในเดือนกรกฎาคม ถือว่าอ่อนค่ามากที่สุดนับจากเดือนเมษายน 2011 ซึ่งในครั้งนั้นลดลง 3.85%
เจนส์ นอร์ดวิก ซีอีโอของเอ็กเซนเต บอกว่า ดอลลาร์สหรัฐเจอปัญหาหนักพร้อมกันหลายอย่าง ทำให้จากที่เคยแข็งค่ามาตลอด 6 ปี ก็เริ่มจะปรับฐาน เพราะมีแนวโน้มว่าสหรัฐจะอยู่ในกลุ่มประเทศที่ย่ำแย่ที่สุดในแง่การควบคุมการระบาด ซึ่งจะมีผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ดังนั้นคิดว่าการเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐจะอยู่ในทิศอ่อนค่าต่อไป เป็นการยากที่จะบอกว่าแนวโน้มเช่นนี้จะหยุดเมื่อไหร่
ในขณะที่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ทองคำเป็นฝ่ายได้เปรียบ โดยในตลาดล่วงหน้าเมื่อวันจันทร์ที่แล้ว ราคาทองคำพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1941.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ โดยนอกจากเป็นเพราะดอลลาร์อ่อนค่าลงแล้ว ยังเป็นเพราะนักลงทุนหวั่นวิตกปัญหาเงินเฟ้อจากการที่ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ระดมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อกู้วิกฤต นักวิเคราะห์บางคนประเมินว่าราคาทองคำอาจขึ้นไปแตะ 3,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ภายใน 2 ปี
การเคลื่อนไหวของราคาทองคำยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้น โดยในเดือนกรกฎาคม ดัชนี S&P 500 ปรับขึ้น 4.2% เช่นเดียวกับตลาดหุ้นของหลายประเทศที่ปรับขึ้นเนื่องจากดอลลาร์อ่อนค่าเพราะทำให้ต้นทุนค่าสินค้าและบริการจากสหรัฐมีราคาถูกลง ตราบใดที่ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่า ตลาดหุ้นก็จะปรับขึ้นต่อไป ถ้านักลงทุนออกไปลงทุนหุ้นนอกสหรัฐมาก ๆ ก็อาจส่งผลเสียต่อตลาดหุ้นสหรัฐ โดยนักวิเคราะห์ระบุว่า นักลงทุนเริ่มออกไปลงทุนหุ้นต่างประเทศตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และยังเป็นเช่นนั้นจนถึงปัจจุบัน