อุปสงค์น้ำมันดิ่งทั่วโลก ปัญหาใหญ่ของ โอเปก

FILE PHOTO: The sun is seen behind a crude oil pump jack in the Permian Basin in Loving County, Texas, U.S., November 22, 2019. Picture taken November 22, 2019. REUTERS/Angus Mordant/File Photo
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

การแพร่ระบาดไปทั่วโลกของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การบริโภคน้ำมันทั่วโลกลดลงมากถึงกว่า 1 ใน 3 เมื่อต้นปีนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ความนิยมต่อรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อันเป็นส่วนหนึ่งของกระแสการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงแหล่งที่มาพลังงานในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็น การสนองตอบต่อปัญหาโลกร้อนที่สร้างความกังวลมากขึ้นและกว้างขวางขึ้น

เมื่อปี 2019 ทั่วโลกบริโภคน้ำมันมหาศาลถึง 99.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้กลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (โอเปก) คาดการณ์ไว้ว่า การบริโภคน้ำมันในปี 2020 นี้จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น101 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่การล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปีนี้ทำให้เครื่องบินโดยสารต้องจอดนิ่งอยู่กับที่การจราจรบนท้องถนนหายไปจนเกือบหมด ถึงขณะนี้ฝ่ายวิจัยของโอเปกประเมินว่า อัตราการบริโภคน้ำมันทั่วโลกน่าจะเหลือเพียง 91 ล้านบาร์เรลต่อวัน และยังประเมินต่อไปว่าในปี 2021 การบริโภคน้ำมันก็จะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับของปี 2019 อีกด้วย

ฮัสซัน คาบาซาร์ด อดีตหัวหน้าฝ่ายวิจัยของโอเปกระหว่างปี 2006-2013 ก่อนออกมาทำงานวิเคราะห์ให้การปรึกษาเชิงนโยบายน้ำมันต่อบรรดาเฮดจ์ฟันด์และวาณิชธนกิจทั้งหลายชี้ให้เห็นว่า สภาพการณ์ในยามนี้ก่อให้เกิดปัญหามากมายกับโอเปกตั้งแต่คำถามง่าย ๆ แต่หาคำตอบได้ยากยิ่งว่า ความต้องการน้ำมันที่ดิ่งลงทั่วโลกในยามนี้จะฟื้นตัวกลับมาหรือไม่ ? เรื่อยไปจนถึงคำถามสำคัญที่ว่า ความต้องการน้ำมันถึงระดับพีกแล้ว และกำลังจะลดลงไปเรื่อย ๆ โดยถาวรใช่หรือไม่ ?

คำตอบของคำถามเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของโอเปกในอนาคตสูงยิ่ง ในภาวะดีมานด์ต่ำโอเปกจำเป็นต้องร่วมมืออย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับผู้ผลิตนอกกลุ่มอย่างเช่น รัสเซีย ในเวลาเดียวกันก็ต้องควบคุมชาติสมาชิกในกลุ่มกันเองไม่ให้เกิดการแตกแถวในยามธุรกิจน้ำมันดิ่งลงอีกด้วย

ความต้องการที่ลดต่ำลงพร้อม ๆ กับที่ผลผลิตจากกลุ่มที่ไม่ได้เป็นชาติสมาชิกโอเปกเพิ่มสูงขึ้น ทำให้การทำงานของโอเปกหนักมากขึ้นหลายเท่าตัว โดยนักวิชาการที่ทำงานอยู่ในกระทรวงน้ำมันของชาติใหญ่ในโอเปกชาติหนึ่ง ยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า ความต้องการน้ำมันจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ ไม่สามารถฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนหน้าเกิดวิกฤตโควิดในระยะเวลาสั้น ๆ

แต่สิ่งที่โอเปกเป็นกังวลมากที่สุดในเวลานี้ก็คือ ความต้องการน้ำมันของโลกจะไม่กลับคืนมาอีกแล้วหลังจากพุ่งขึ้นสูงสุดในอีกไม่ช้า “ความกังวลหลักในตอนนี้ก็คือ ความต้องการน้ำมันจะขึ้นสู่จุดสูงสุดในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากเทคโนโลยีด้านพลังงานรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะเทคโนโลยีแบตเตอรี่”

นอกแวดวงของโอเปกเอง การคาดการณ์ความต้องการน้ำมันในอนาคตยังหลากหลาย บริษัทที่ดำเนินกิจการน้ำมันเองเริ่มปรับลดประมาณการราคาน้ำมันในระยะยาว จากแนวโน้มความต้องการลดลง บริษัทที่ปรึกษาพลังงานระดับโลกอย่างดีเอ็นวี จีแอลเชื่อว่า ความต้องการน้ำมันอาจถึงจุดสูงสุดแล้วเมื่อปี 2019 โดยตัวเลขที่น่าขบคิดอย่างหนึ่งก็คือ แม้จะไม่มีวิกฤตโควิดสัดส่วนของน้ำมันต่อพลังงานทั้งหมดที่ใช้กันทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา

ในปี 1994 พลังงานที่โลกบริโภคมีน้ำมันอยู่เป็นสัดส่วนสูงถึง 40% แต่พอถึงปี 2019 สัดส่วนของน้ำมันต่อพลังงานทั้งหมดที่โลกใช้ลดลงเหลือเพียง 33% เท่านั้น ถึงแม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีรถยนต์บนท้องถนนเพิ่มมากขึ้น มีการเดินทางทางอากาศเพิ่มมากขึ้น และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีก็ผลิตพลาสติก (จากน้ำมัน) เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ตามที

ขณะที่การระบาดของโควิด-19 เปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ดังกล่าวไปแล้ว รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าถูกผลิตออกมามากขึ้น ขณะที่สายการบินต่าง ๆ ต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อเปิดบริการเส้นทางบินของตนอีกครั้ง สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือไออาต้าประเมินว่า การสัญจรทางอากาศของทั่วทั้งโลกจะไม่ฟื้นฟูขึ้นสู่ระดับเมื่อปี 2019 จนกว่าจะถึงปี 2023 ย้ำไว้ด้วยว่า นั่นเป็นการประเมิน “อย่างเร็วที่สุด” ขณะที่ความเป็นจริงอาจล่าช้ากว่านั้น โดยชาติโอเปกส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ความต้องการน้ำมันจะเพิ่มขึ้นจนถึงระดับปกติในตอนสิ้นปี 2023 ภายใต้ข้อแม้ว่าจะยังไม่มีการแข่งขันจากแหล่งพลังงานอื่น ๆ

ข้อสังเกตประการหนึ่งก็คือ โอเปกเคยเผชิญกับสถานการณ์ระดับวิกฤตมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่วิกฤต “ซัพพลายชอร์ต” ที่เกิดจากความขัดแย้งและสงครามในอ่าวเปอร์เซีย ทั้งในทศวรรษ 1980, 1990 และล่าสุดในทศวรรษ 2000 เคยเผชิญกับวิกฤตอุตสาหกรรมน้ำมันจากหินน้ำมันหรือเชลออยล์ เคยรับมือกับสถานการณ์เพิ่มการผลิตของประเทศผู้ผลิตนอกกลุ่มมาได้ด้วยดีในช่วง 10 ปีหลังมานี้

แต่สถานการณ์ครั้งนี้แตกต่างออกไป นี่ไม่ใช่วิกฤตการณ์ระยะสั้นเหมือนที่ผ่านมา ปัญหาความต้องการน้ำมันเป็นวิกฤตระยะยาว ซึ่งโอเปกต้องเรียนรู้และปรับตัวให้สามารถอยู่ร่วมกับสถานการณ์นี้

คาบาซาร์ดเองเตือนว่า ชาติโอเปกเหลือเวลาอยู่เพียงไม่กี่มากน้อยสำหรับการปรับตัว โดยย้ำว่า แม้จะถึงทศวรรษ 2040 ความต้องการน้ำมันก็ไม่มีวันสูงเกินกว่า 110 ล้านบาร์เรลต่อวันแน่ เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง

จนสามารถพูดได้ว่าอุปสงค์น้ำมันถูกทำลายไปโดยถาวรแล้วนั่นเอง