ชะตากรรมแรงงานจีน 290 ล้านคน เมื่อภาคส่งออก ‘เจอทางตัน’

REUTERS/Tingshu Wang

หลายสิบปีที่ผ่านมาแรงงานชนบทของจีนเดินทางเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตจำนวนมหาศาล ท่ามกลางการขยายตัวของอุตสาหกรรมส่งออก ที่ได้เปรียบจาก “ค่าแรงราคาถูก” และตลาดทั่วโลกที่รองรับการส่งออกสินค้าจีนแต่ภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนในปัจจุบัน ทำให้โรงงานจีนจำนวนมากประสบปัญหา และหลายแห่งต้องปิดตัวลง ส่งผลให้ชีวิตของแรงงานอพยพแขวนอยู่บนเส้นด้าย

เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า การพัฒนาของจีนที่ผ่านมา ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องขึ้น “ค่าแรง” จึงไม่สามารถรักษาความได้เปรียบในการส่งออกของสินค้าจีนได้เช่นเดิม อีกทั้งสงครามการค้ากับสหรัฐที่ใช้มาตรการภาษีตอบโต้กันไปมา ก็เป็นอุปสรรคในการส่งออกของจีนมากขึ้น

และการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ยังทำให้การส่งออกของจีนลดลง เนื่องจากเส้นทางการส่งออกถูกปิดกั้น และคำสั่งซื้อจำนวนมากถูกยกเลิก ข้อมูลของศุลกากรระบุว่า ยอดส่งออกจีนในเดือน ก.พ.ลดลง -17.2% แม้ในเดือน มิ.ย. 2020 จะขยายตัวขึ้นราว 0.5% ก็ตาม “เจา เจียน” หัวหน้าสถาบันวิจัยการเงินแอตแลนติส ระบุว่า “ภาคการส่งออกมีความสำคัญต่อการจ้างงานอย่างมาก ซึ่งผู้ส่งออกจีนจำนวนมากเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานโลก”

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ ต้องปิดโรงงานบางแห่งเช่น “ตงกวน ติงอี้” ผู้ผลิตรองเท้ารายใหญ่ได้ปิดโรงงานในมณฑลกวางตุ้ง กระทบกับแรงงาน 900 คน เช่นเดียวกับโรงงานอีกหลายพันแห่งในเมืองตงกวนที่มีแผนปิดตัวหรือลดการจ้างงาน

โดยผู้ที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการปิดโรงงาน คือ “แรงงานอพยพ” จากชนบทกว่า 290 ล้านคน ซึ่งแรงงานเหล่านั้นอาจต้องกลับภูมิลำเนา เนื่องจากไม่มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในเมืองใหญ่ หรือบางรายก็ต้องไปทำงานที่โรงงานในเมืองที่ห่างไกลขึ้นและได้รับค่าจ้างน้อยลง

แม้ว่าตัวเลขการจ้างงานอย่างเป็นทางการของจีนจะมีแนวโน้มดีขึ้น โดยอัตราการว่างงานในเดือน มิ.ย. 2020 อยู่ที่ 5.7% ลดลงจากเดือน พ.ค.อยู่ที่ 5.9% แต่แรงงานจากชนบทมักเป็นแรงงานนอกระบบที่ตกสำรวจ นอกจากนี้ การหายไปของแรงงานอพยพยังกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ ที่จะสูญเสียรายได้จากผู้ใช้บริการที่เป็นแรงงานกลุ่มนี้

ขณะที่รัฐบาลจีนได้พยายามผลักดันนโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งเน้น “การบริโภคภายในประเทศ” ควบคู่กับ “การส่งออก” หรือที่เรียกว่า ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนคู่ขนาน แต่จากปัญหาโรคระบาดก็ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนยังคงไม่กล้าจับจ่าย และสถานการณ์แรงงานอพยพก็กลายเป็นปัจจัยซ้ำเติมให้ความพยายามกระตุ้นการบริโภคห่างไกลจากความสำเร็จ และอาจกระทบถึงเศรษฐกิจในวงกว้าง หากรัฐบาลไม่เร่งอุดหนุนให้ภาคธุรกิจสามารถรักษาการจ้างงานต่อไปได้