‘สหรัฐ-จีน’ เจรจา 15 ส.ค.ชี้อนาคต ‘ข้อตกลงการค้า’

(Photo by Ng Han Guan / POOL / AFP)

การบรรลุข้อตกลงการค้า “เฟสแรก” ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน เมื่อกลางเดือน ม.ค. 2020 ได้ยุติความตึงเครียดระหว่างประเทศมหาอำนาจทั้งสองลงชั่วคราว ซึ่งคาดว่าสัญญาการสงบศึกดังกล่าวยังคงอยู่ไปจนถึงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือน พ.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 ได้เปลี่ยนสมการดังกล่าวไปอย่างสิ้นเชิง

วอลล์สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า ตัวแทนของ 2 ประเทศอย่าง “โรเบิร์ต ไลต์ไฮเซอร์” ผู้แทนการค้าของสหรัฐ และ “หลิว เหอ” รองนายกรัฐมนตรีของจีน จะประชุมทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในวันที่ 15 ส.ค. 2020 ซึ่งนอกจากวาระการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าการปฏิบัติตามข้อตกลงทางการค้าเฟสแรกแล้ว การประชุมครั้งนี้ ยังเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐและจีนที่ย่ำแย่ลงอย่างมากจากโควิด-19 อีกทั้งการระบาดยังส่งผลให้ “จีน” คงไม่สามารถบรรลุสัญญาที่ให้ไว้ในข้อตกลงได้

ซึ่งจากข้อตกลง “จีน” ได้ให้สัญญาว่าภายใน 2 ปี จีนจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งประกอบด้วย สินค้าภาคการเกษตร, พลังงาน, สินค้าอุตสาหกรรม และภาคบริการ แต่ว่าจากข้อมูลของสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สันพบว่า จนถึงปัจจุบัน “จีน” ได้นำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 40,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

สำหรับสินค้าภาคการเกษตรและพลังงาน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นฐานเสียงของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งรอยเตอร์สรายงานว่า ในปี 2020 “จีน” ตั้งเป้าหมายว่าจะนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐเพิ่มขึ้น 36,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสินค้าพลังงานเพิ่มขึ้น 25,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ที่ผ่านมา “จีน” ได้ซื้อสินค้าเหล่านี้ไปในปริมาณที่น้อยมาก

โดยจีนได้ซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐน้อยกว่า 50% ของเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ และซื้อสินค้าอุตสาหกรรมพลังงานเพียง 5% เท่านั้น ซึ่งหากพิจารณาตามอัตรานี้แล้ว จีนคงไม่สามารถบรรลุพันธะในข้อตกลงการค้าได้

แม้ว่า “โควิด-19” จะเป็นข้ออ้างที่ดี หากจีนไม่สามารถทำตามข้อสัญญา แต่ว่า “คำถาม” ก็คือ “สหรัฐ” จะยอมรับฟังและยอมผ่อนผันให้ “จีน” ได้หรือไม่

เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ รายงานอ้างอิงที่ปรึกษาของรัฐบาลจีนซึ่งชี้ว่า การประชุมในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ จะชี้ชะตาสถานะของข้อตกลงการค้าเฟสแรก ซึ่งหากสหรัฐกดดันจีนอย่างหนักให้บรรลุข้อตกลง โดยไม่คำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศที่ไม่เอื้ออำนวย ก็อาจนำไปสู่การฉีกข้อตกลงเฟสแรกได้

และจากความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลงต่ำสุดในรอบหลาย 10 ปี ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า “สหรัฐ” จะไม่ยอมผ่อนผัน และกดดันจีนอย่างหนัก เพื่อให้ทำตามข้อตกลง ซึ่งการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสหรัฐอเมริกาอย่างหนัก และรัฐบาลสหรัฐก็พุ่งเป้ากล่าวหาว่า “จีน” เป็นสาเหตุของการปล่อยให้เชื้อไวรัสระบาดในสหรัฐ

ซึ่งสร้างกระแสต่อต้านจีนให้สูงขึ้นในรัฐบาล จนทำให้สายเหยี่ยวที่นำโดย “ไมค์ ปอมเปโอ” ก้าวขึ้นมากุมการชี้นำนโยบายต่างประเทศ และออกมาตรการต่าง ๆ อย่างการสั่งปิดสถานกงสุลของจีนที่ฮูสตัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือการกดดัน “ติ๊กต๊อก” แอปสยอดนิยมของจีน อันสร้างความไม่พอใจให้จีนอย่างมาก เป็นต้น

ทำให้มีการวิเคราะห์คาดการณ์ว่า แนวทางของ “กลุ่มสายเหยี่ยว” ที่ปัจจุบันมีอิทธิพลอย่างมากต่อนโยบายต่างประเทศ ก็จะถูกส่งผ่านไปยังทีมเจรจาของ “โรเบิร์ต ไลต์ไฮเซอร์” ที่แม้ว่าจะพยายามรักษาข้อตกลงเอาไว้ แต่ก็คงมิอาจต้านแรงกดดันจากสายเหยี่ยวในรัฐบาลสหรัฐได้