“สมาร์ทโฟน เอฟเฟ็กต์” รอบนี้…ไม่ขลังอย่างที่คิด !

นักเศรษฐศาสตร์เคยตั้งข้อสังเกตว่า ทุกครั้งที่มีการเปิดตัวสมาร์ทโฟนยอดนิยมรุ่นใหม่ ๆ ทั้งหลาย ซึ่งส่งผลให้บรรดาผู้ใช้จำนวนมากทั่วโลกพากันแห่แหนไป “อัพเกรด” สมาร์ทโฟนของตัวเองให้เป็นรุ่นใหม่ล่าสุดตามวัฏจักรผลิตภัณฑ์ จะส่งผลกระทบในทางบวกต่อการค้าในภูมิภาคเอเชีย ที่เป็นแหล่งสำคัญในการผลิตชิ้นส่วนตั้งแต่หน้าจอ, ชิปประมวลผล เรื่อยไป จนถึง “ดีแรม” ให้กับสมาร์ทโฟนเหล่านั้น

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเรียกผลกระทบนี้ว่า “สมาร์ทโฟน เอฟเฟ็กต์” ยังไม่เคยมีใครวัดมูลค่าของผลกระทบเหล่านี้ออกมาเป็นตัวเลขชัด ๆ แต่นักเศรษฐศาสตร์ยืนยันว่า สมาร์ทโฟนเอฟเฟ็กต์มีมูลค่าสูงทีเดียว ตัวอย่างเช่น ตัวเลขการส่งออกในส่วนของเซมิคอนดักเตอร์ของเกาหลีใต้เมื่อเดือนสิงหาคม ไล่เลี่ยกับการเปิดตัว ไอโฟน 8 และกาแล็กซี่ โน้ต 8 เพิ่มขึ้นพรวดพราดถึง 57% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา และคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 18.6% ของการส่งออกทั้งหมดของเดือนนั้น

การอัพเกรดสมาร์ทโฟนจึงส่งผลให้ปีนั้น ๆ กลายเป็นปีที่การส่งออกจากเอเชีย โดยเฉพาะเกาหลีใต้, ญี่ปุ่นและไต้หวัน ที่เป็นซัพพลายเชนสำคัญของสมาร์ทโฟนแข็งแกร่งตามไปด้วย

แต่ปีนี้มีวี่แววว่า “สมาร์ทโฟน เอฟเฟ็กต์” จะไม่ขลังอย่างที่คิด ไม่ส่งผลต่อการส่งออกจากเอเชียเหมือนทุกคราวที่ผ่านมา

เหตุผลหนึ่งนั้นเป็นเพราะดัชนียอดขายสมาร์ทโฟนยอดนิยมที่เพิ่งเปิดตัวกันออกมาไม่ดีอย่างที่คาดการณ์กันไว้ ส่งผลให้ดัชนีราคาหุ้นของซัพพลายเออร์ของแอปเปิล อิงก์ทั้งหลายในเอเชียตกอยู่ในสภาพทรงกับทรุด

นั่นหมายความว่าหากการอัพเกรดสมาร์ทโฟนไม่แข็งแกร่งจริง ๆ การค้าเอเชียก็จะไม่โตอย่างที่คาดหมายและสุขภาพเศรษฐกิจของเอเชียก็อาจอ่อนแอตามไปด้วย

“ร็อบ ซับบารามาน” หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชียของโนมูระ โฮลดิง อิงก์ เตือนว่า การค้าของเอเชียอาจจะถีบตัวขึ้นผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในปีนี้จนทำให้สถิติการค้าดูดีกว่าที่คาดหมายกัน แต่จะมีแนวโน้มชะลอลงนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป

เพราะในเวลาเดียวกับที่ “สมาร์ทโฟน เอฟเฟ็กต์” ไม่ทำงาน ปัจจัยอื่น ๆ ก็ดูเหมือนจะคุกคามเข้ามาตามไปด้วย แรกสุดก็คือ เริ่มมีการคาดการณ์กันอีกครั้งแล้วว่า เศรษฐกิจของจีนกำลังตกกลับสู่สภาพชะลอตัวอีกครั้ง แม้ว่าถึงขณะนี้เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวตลอดปีที่ 7.6% แต่การขยายตัวในเดือนล่าสุดคือเดือนสิงหาคมกลับรูดลงไปอยู่ที่ 5.6% เท่านั้น

ในส่วนของเกาหลีใต้ นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าการขยายตัวของการส่งออกก็ถึงจุดสูงสุดแล้วเช่นเดียวกัน และสัดส่วนจะลดลงฮวบฮาบในเดือนถัดไป เพราะไม่มีฐานต่ำ ๆ ของปี 2016 มาเปรียบเทียบอีกแล้ว

ขณะที่ทีมติดตามปริมาณการค้าของ “โกลด์แมน แซกส์” ก็ได้ตัวเลขประจำเดือนสิงหาคมออกมาซึ่งแสดงให้เห็นว่าการค้าเอเชียโดยรวมชะลอตัว มีสัญญาณการลดลงทั่วทุกภาคการส่งออก ยกเว้นภาคเซมิคอนดักเตอร์ ที่สำคัญก็คือการนำเข้าของเอเชียเองก็อ่อนตัวลงตามไปด้วย

ปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของเอเชียอีกประการก็คือ การตัดสินใจของธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้วที่เตรียมการหันมาใช้นโยบายทางการเงินเข้มงวดมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของเอเชียคงไม่ทรุดตัวลงอย่างฮวบฮาบ “เคลาส์ บาเดอร์” หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ โซไซเอเต เยเนอราล เอสเอ ชี้ว่า ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเอเชียไม่ได้จำกัดอยู่แค่สมาร์ทโฟนกับเศรษฐกิจจีน แต่ยังมีตัวขับเคลื่อนใหม่ ๆ อย่างเช่น การลงทุนทางธุรกิจ ซึ่งคาดว่าจะเร่งสปีดเร็วขึ้นนับตั้งแต่ตอนนี้ และจะส่งผลกระทบในทางบวกต่อผู้ผลิตในเอเชียเป็นลูกโซ่ต่อไป

นอกจากนั้นยังมีญี่ปุ่นที่การส่งออกยังคงแข็งแกร่งและคาดว่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไปตลอด 6 เดือนที่เหลือของปีนี้
องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ก็เพิ่งปรับตัวเลขมวลรวมของการค้าโลกในปีนี้เพิ่มจาก 2.4% เป็น 3.6% โดยใช้การขยายตัวเกินคาดของเอเชียเป็นเหตุผลสำคัญ

“ฮิโรอากิ มูโตะ” แห่งโตไก โตเกียว รีเสิร์ช เซ็นเตอร์ เชื่อว่า โมเมนตัมทางเศรษฐกิจของเอเชียอาจชะลอตัวลง เมื่ออัตราดอกเบี้ยทั่วโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ปีนี้เรื่อยไปจนถึง 6 เดือนแรกของปีหน้ายังปลอดภัย แต่ครึ่งหลังของปีหน้าอันตรายอาจมาเยือนได้เหมือนกัน