สหรัฐกับโศกนาฏกรรม”กราดยิง” เปิดสถิติเทียบนานาชาติ สิทธิครอบครอง”อาวุธปืน”ของชาวอเมริกัน

Credit : Reuters

ประชาชาติฯออนไลน์รายงาน/เรียบเรียง

โศกนาฏกรรม “กราดยิง” ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นกับเหตุสะเทือนขวัญมือปืนใช้ปืนยิงผู้คนในงานคอนเสิร์ตกลางแจ้งในลาสเวกัส โดยการนำปืนที่ได้รับการดัดเเปลงกว่า 23 กระบอก ทำการยิงบนชั้น 23 ของโรงเเรม จนเป็นเหตุมีผู้เสียชีวิตอย่าง 59 ราย บาดเจ็บกว่า 500 ราย

จากการสืบสวนของตำรวจ พบว่า “สตีเฟน แพดดอค” ชายวัย 64 ปี ผู้ก่อเหตุไม่เคยมีประวัติก่ออาชญากรรมมาก่อน มีใบอนุญาตขับเครื่องบินและล่าสัตว์…เขาเป็นคนรวยที่มีเงินซื้อปืนจำนวนมากเเละมีสิทธิในการครอบครองปืน เฉกเช่นอเมริกันชนคนอื่นๆ

จึงนำมาสู่การตั้งคำถามถึง “กฎหมายการครอบครองปืนของสหรัฐ” ที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมครั้งนี้

โดยสถิติบ่งชี้ว่าสหรัฐเป็นประเทศที่มีเหตุรุนเเรงจากอาวุธปืนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก พร้อมกับการเป็นประเทศที่มีผู้ครอบครองอาวุธปืนมากที่สุดเเห่งหนึ่งของโลกเช่นกัน

นิวยอร์ก ไทมส์ระบุว่า ในประเทศพัฒนาแล้ว มีอัตราการใช้ปืนเพิ่มขึ้น ทั้งการใช้ปืนเพื่อฆ่าตัวตายการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางปืนและการยิงของตำรวจ…ด้วยว่าหากคุณอาศัยอยู่ในสังคมที่มีปืนมากขึ้น คุณก็ย่อมมีแนวโน้มที่จะตายด้วยปืน

สหรัฐมีการครอบครองปืนอย่างถูกกฎหมายราว 300 ล้านกระบอก โดยเฉลี่ยใน 100 คน จะครอบครองปืนอยู่ 89 คน นับว่าสูงเมื่อเทียบกับประเทศใหญ่อย่างเเคนาดาที่มีการครอบครองปืน เฉลี่ยใน 100 คน มีปืนอยู่ 30 คน เเละในสหราชอาณาจักร มีปืนอยู่ 6 คนตามลำดับ

ทั้งนี้ ปัจจุบันสหรัฐมี 31 รัฐที่สามารถพกปืนสั้นได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตและมี 15 รัฐที่สามารถพกปืนสั้นได้ โดยต้องมีใบอนุญาต ขณะที่มี 44 รัฐที่สามารถพกปืนยาวได้

อย่างไรก็ตาม ในประเทศด้อยพัฒนาอย่าง “กัวเตมาลา” มีอัตราการฆาตกรรมด้วยปืนมากกว่าสหรัฐอเมริกา แม้ว่าอัตราการเป็นเจ้าของปืนของชาวกัวเตมาลาจะต่ำกว่าสหรัฐมาก เเต่มีปัจจัยความไม่สงบทางการเมือง การทำงานของตำรวจเเละสงครามระหว่างกลุ่มต่างๆ

สิทธิเเละเสรีภาพในการครอบครองปืน เป็นสิ่งที่คนอเมริกันบางส่วนหวงแหน โดยชาวอเมริกันมีปืน คิดเป็นร้อยละ 4.4 ของประชากรโลก เเละเป็นการครอบครองปืนโดยเอกชนมากถึงร้อยละ 42 ขณะที่อัตราการฆาตรกรรมด้วยปืนของสหรัฐอยู่ที่ 30 ต่อ 1 ล้านคน ส่วนในแคนาดาและสหราชอาณาจักรมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 5 และ 0.7 ตามลำดับ

ในปี 2013 การเสียชีวิตของชาวอเมริกันที่เกี่ยวข้องกับปืน รวมถึงการฆ่าตัวตาย อยู่ที่ 21,175 ราย เเบ่งเป็นฆาตกรรม 11,208 รายและ 505 รายจากอุบัติเหตุ ในปีเดียวกันนั้นเอง ประเทศพัฒนาเเล้วในเอเชียอย่าง “ญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรเพียง 1 ใน 3 ของอเมริกา มีสถิติการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับปืนเพียง 13 รายเท่านั้น

10 ประเทศที่ประชาชนมีการถือครองอาวุธปืนสูงสุด (2011)

ในด้านกฎหมายการครอบครองปืน สหรัฐอเมริกามักถูกมองว่ามีการควบคุมอาวุธปืนที่ “อ่อนแอ”  ทั้งในแง่ความต้องการในการเป็นเจ้าของและประเภทของปืนที่สามารถเป็นเจ้าของได้

เปรียบเทียบกับ “สวิสเซอร์แลนด์” ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการถือปืนสูงสุดเป็นอันดับสองในหมู่ชาติพัฒนาแล้วโดยมีการถือปืน 46 คน ใน 100 คน เเต่สวิตเซอร์แลนด์มีจำนวนผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 7.7 คนต่อ 1 ล้านคน โดยกฎหมายปืนของสวิสเซอร์เเลนด์ มีความเข้มงวดอย่างมาก ตั้งเเต่การรักษาความปลอดภัย ใบอนุญาตสำหรับการขายปืนและสำหรับปืนประเภทต่างๆที่สามารถเป็นเจ้าของได้

ด้านแคนาดา มีการจำกัดประเภทของอาวุธปืนที่เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมรุนแรง เช่นปืนพกปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ การตรวจสอบภูมิหลังอย่างเข้มงวดมากขึ้น และผู้ซื้ออาจถูกตัดสิทธิจากการเป็นเจ้าของปืน หากละเมิดกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยเน้นการควบคุมการถือปืนของผู้ที่อาจมีความรุนแรงหรือมีปัญหาทางจิตใจ

เหตุกราดยิงที่ร้ายเเรงที่สุดของในสหรัฐ นับตั้งเเต่ปี 1991

ขณะที่ภายใต้กฎหมายของรัฐบาลกลางสหรัฐ ไม่สามารถตรวจสอบสถิติปืนบางอย่างได้ ซึ่งทำให้ยากต่อการเขียนข้อกำหนดด้านความปลอดภัยมากขึ้น รวมไปถึงการปรับปรุงขั้นตอนการตรวจสอบภูมิหลัง หรือจำกัดการเป็นเจ้าของปืน ดังนั้นสหรัฐอเมริกาจึงมีความเเตกต่างกว่าประเทศอื่นทั้งค่านิยมเเละกฎหมาย

กฎหมายของอเมริกา เริ่มต้นจากการที่ชาวอเมริกันทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของปืน ส่วนรัฐกลับเป็นฝ่ายที่ต้องได้รับการควบคุม

จากอดีตของสหรัฐ เคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ถูกสั่งห้ามไม่ให้ประชาชนพกอาวุธปืนเพราะกลัวจะถูกใช้เป็นอาวุธในการต่อต้าน เเต่หลังจากอเมริกาปฎิวัติได้สำเร็จ ในปี 1776 ได้มีการร่างบทบัญญัติมาตรา 2 ขึ้นมา เพื่อป้องกันตนเองและป้องกันการรุกรานจากชาติอื่น โดยมีสาระสำคัญของบทบัญญัติ คือ ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีการผิดปกติทางจิต ไม่มีประวัติอาชญากรรม เเละอายุ 18 ปีขึ้นไปก็สามารถเป็นเจ้าของปืนได้ (ปืนยาวต้องอายุเกิน 21 ปีขึ้นไป) หากผ่านการตรวจสอบประวัติและลงทะเบียนให้ถูกต้องทางกฎหมาย โดยบทบัญญัตินี้ถูกใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ด้านสหราชอาณาจักร มีการเปลี่ยนเเปลงโดยได้กำหนดกฎหมายควบคุมปืนที่เข้มงวด เช่นห้ามใช้ปืนพกบางชนิด หลังเกิดเหตุกราดยิงมวลชนในปี 1987 เเละในออสเตรเลียเกิดโครงการซื้อคืนเพื่อลดจำนวนอาวุธได้กว่าครึ่งล้านชิ้น ในปี 1996

ประเภทของปืนที่ถูกใช้ในการฆาตรกรรมมากที่สุดในสหรัฐ (2016)

เเม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐ จะออกประกาศแก้ปัญหา เช่นให้ซื้อปืนยากขึ้น หรือป้องกันไม่ให้ปืนตกไปอยู่กับผู้ที่ไม่เหมาะสม เเต่หลายพรรคการเมืองที่ได้รับเลืกตั้งเข้ามาส่วนใหญ่มักหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงการแก้ไขบทบัญญัติมาตรา 2 ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก “การครอบครองอาวุธปืน” กลายเป็นความเคยชินเเละสิทธิพื้นฐานของชาวอเมริกันมาเนิ่นนาน

เเต่เมื่อเกิด “โศกนาฏกรรมกราดยิง” ที่มีผู้คนเสียชีวิตจำนวนมากเช่นครั้งนี้ จึงเป็นคำถามย้อนสู่รัฐบาลสหรัฐถึงการเพิ่มความรัดกุมในการครอบครองปืน เพื่อป้องกันเหตุสะเทือนขวัญครั้งต่อไปนั้น…คุ้มค่ากว่าหรือไม่

 

อ่านเพิ่มเติม: 

Three Important Ways America Is Unique When it Comes to Guns

Everyone knows Americans own more guns than residents of any other country. But why?

America’s gun culture in 10 charts