“ติ๊กต๊อก-วีแชท” ปฏิบัติการทุบแล้วยึดของทรัมป์

ทรัมป์-ติ๊กต๊อก
Lionel BONAVENTURE and JIM WATSON / AFP
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ใครที่ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนเรื่อยมา คงมีความรู้สึกทึ่งเกิดขึ้นประการหนึ่ง นั่นคือ ทีมงานของโดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีอเมริกันรายนี้ มีแนวคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ หลากหลายมากในการเล่นงานกิจการใด ๆ ของจีน ที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในสหรัฐอเมริกา (หรือทั่วโลก) แล้วได้รับความนิยมสูง ตัวอย่างล่าสุดที่ได้เห็นกันก็คือ การเล่นงานแอปพลิเคชั่นแชร์วิดีโอชื่อดังอย่าง “ติ๊กต๊อก” แล้วก็แอปสื่อสังคมที่ไม่ได้รับความนิยมมากมายนักอย่าง“วีแชท”

คนที่อ่านรายงานข่าวอย่างผิวเผินคงเข้าใจว่า การเล่นงานของสหรัฐอเมริกาต่อไบต์แดนซ์ และเท็นเซนต์ สองบริษัทเทคโนโลยีของจีนนั้น เป็นไปในทำนองเดียวกันกับในประเทศอื่น ๆ อาทิ อินเดีย เป็นต้น แต่จริง ๆ แล้ว แนวทางที่รัฐบาลอเมริกันใช้เล่นงานธุรกิจจีนทั้ง 2 บริษัทนี้ ต่างกันอย่างใหญ่หลวงกับมาตรการตรงไปตรงมาอย่างที่อินเดียใช้

ขณะที่อินเดียใช้วิธีการ “แบน” ไม่ให้ใช้แอปพลิเคชั่น หรือผลผลิตของจีนหลายบริษัทแบบตรง ๆ กันเอาธุรกิจของจีนออกไปจากประเทศตน สืบเนื่องจากการปะทะซึ่งกันและกันตามแนวชายแดนตอนเหนือของประเทศ สำหรับ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่อาจเลือกใช้วิธีการเดียวกันก็ได้ แต่อาจเป็นไปได้ว่าวิธีแบบเดียวกับอินเดีย “ธรรมดา” มากไป หรืออาจเป็นไปได้ว่า ทันทีที่มีข่าวสะพัดออกมาว่า ทรัมป์จะเล่นงานติ๊กต๊อก ก็ถูกขู่กลาย ๆ จากบรรดาสาวกของติ๊กต็อกในสหรัฐอเมริกา บอกว่าเรื่องนี้คงกระทบการตัดสินใจ “การลงคะแนนเสียง” ของตนอย่างแน่นอน

ไบต์แดนซ์อ้างว่า แอปพลิเคชั่นติ๊กต๊อกของตนในสหรัฐอเมริกา มีผู้ใช้งานอยู่มากถึง 100 ล้านคน ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ ซึ่งจะว่าไปก็มีสัดส่วนสำคัญอยู่ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันมาทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะกร้าวใส่จีนมากเพียงใด ทรัมป์ กับรีพับลิกัน ไม่อยากเสี่ยงกับการเสียคะแนนนิยมไปง่าย ๆ เพียงแค่การลงนามในคำสั่งเชิงบริหารของประธานาธิบดีแน่นอน

ซึ่งทางออกของทรัมป์กับพวกก็คือ ทำอย่างไรถึงจะเล่นงาน “บริษัท” ที่เป็นเจ้าของกิจการได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปเล่นงานแอปพลิเคชั่นที่หลายล้านคนนิยมใช้งาน ?

ดังนั้น วิธีการที่ใช้จึงแปลกกว่าที่ไหน ๆ นั่นคือ ในคำสั่งเชิงบริหารของทรัมป์ ไม่ได้ห้ามการใช้ติ๊กต๊อก แต่ห้ามไม่ให้ “บุคคล” หรือ “นิติบุคคล” ใด ๆ ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจศาลของสหรัฐอเมริกา ทำ “ธุรกรรม” กับไบท์แดนซ์และเท็นเซนต์ นั่นหมายความว่า แอปพลิเคชั่นติ๊กต๊อก สามารถใช้งานได้ต่อไป แต่ไบต์แดนซ์ไม่สามารถดำเนินการเก็บค่าโฆษณาหรือทำธุรกิจอื่นใดในสหรัฐอเมริกาได้อีกแล้ว

โดยคำสั่งห้ามดังกล่าวจะมีผลภายใน 45 วัน เว้นเสียแต่ว่า ไบต์แดนซ์จะตัดสินใจขายกิจการของตนในสหรัฐอเมริกา ให้กับ “ไมโครซอฟท์” ที่เข้าไปพูดคุยกับทรัมป์ แล้วแสดงความสนใจจะซื้อกิจการนี้ตั้งแต่ก่อนคำสั่งจะมีการลงนาม หรือทวิตเตอร์ ที่แสดงความสนใจจะซื้อออกมาในภายหลัง จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวจีนมองการดำเนินการดังกล่าวนี้ว่าเป็นการโจมตีเพื่อยึดครองแอปพลิเคชั่น ดังของจีน แทบไม่ต่างแต่อย่างใดกับการ “บังคับซื้อ” กันหน้าตาเฉย

แม้จะดูเหมือนเป็นทางออกที่ฉลาดของทรัมป์ แต่เป็นอีกครั้งที่เป็นข้อพิสูจน์ชัดเจนว่า ทางออกแต่ละทางที่ทรัมป์เลือกใช้นั้น ไม่รอบคอบและรอบด้านพอ และมักลงเอยด้วยการทำร้ายกิจการของบริษัทอเมริกันตามไปด้วยอยู่เนือง ๆ โดยการห้ามทำ “ธุรกรรม” ดังกล่าวนี้ หากมีผลบังคับใช้ เมื่อตีความตามคำสั่งก็จะหมายความว่า บริษัทอเมริกันใด ๆ ที่ต้องการโฆษณาสินค้าของตนเองบนติ๊กต๊อก หรือวีแชท ทั้งเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคอเมริกันในสหรัฐอเมริกา หรือผู้บริโภคชาวจีนในประเทศจีน ก็ไม่สามารถทำได้ จะรับโฆษณาให้กับไบต์แดนซ์และเท็นเซนต์ ก็ไม่ได้ จะขายพื้นที่ในคลาวด์ให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งก็ไม่ได้

ที่สำคัญที่สุดก็คือ แอปเปิล อิงก์ หรือกูเกิลของอัลฟาเบต อิงก์ ก็ไม่สามารถให้บริการเผยแพร่แอปพลิเคชั่นใดๆ ของทั้งสองบริษัทนี้ทั้งในไอโอเอสและแอนดรอยด์ทั่วโลก เพราะเข้าข่ายทำธุรกรรมกับบริษัททั้งสองด้วยเช่นเดียวกัน

กรณีของไบต์แดนซ์นั้น ดูเหมือนจะวุ่นวายน้อยลงนิดหน่อย เพราะปัญหาอยู่ที่ ติ๊กต๊อก เท่านั้น แต่กรณีของ เท็นเซนต์ เจ้าของวีแชทกลับแตกต่างออกไป โดยวีแชทใช้กันน้อยมากในสหรัฐอเมริกา แต่เท็นเซนต์กลับมีกิจการใหญ่โตในระดับโลก คิดเป็นมูลค่าไม่น้อย 60,000 ล้านดอลลาร์ ณ เดือนธันวาคมที่ผ่านมา

ในส่วนของเท็นเซนต์ มีหุ้นอยู่ในหลายบริษัทมาก ตั้งแต่อาฟเตอร์เปย์ ในออสเตรเลีย ไปจนถึง “เรดดิต” ฟอรัมออนไลน์ในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ เท็นเซนต์ถือหุ้น 40 เปอร์เซ็นต์อยู่ในเอพิก เกมส์ ผู้พัฒนาเกมในนอร์ท แคโรไลนา หรือแม้แต่กองทุนรวมประเภทไพรเวตอีควิตี้เฟิร์มอย่าง เคเคอาร์ มีกิจการวิดีโอสตรีมมิงและมิวสิคสตรีมมิ่ง ที่ผูกพันอยู่กับทั้งผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกามหาศาลกับสมาคมบาสเก็ตบอลแห่งชาติ หรือเอ็นบีเอ และกลุ่มวอร์เนอร์ มิวสิค ซึ่งเอาแค่จัดการยกเลิกธุรกรรมเหล่านี้เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของทรัมป์ก็วุ่นวายโกลาหลแล้วก็แพงระยับแล้ว

นี่ยังไม่นับการต้องรับมือกับการตอบโต้จากจีน ซึ่งมีแน่และน่าจะหนักหนาสาหัสไม่น้อยในไม่ช้าไม่นานอีกด้วย