ผลวิจัยเผย 800 คนทั่วโลก เสียชีวิตจากข้อมูลเท็จเรื่องโควิด

ใช้งานคอมพิวเตอร์

ผลวิจัยเผย มีอย่างน้อย 800 คน ทั่วโลก ที่เสียชีวิตเนื่องจากข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด-19 ในช่วง 3 เดือนแรกของปี

วันที่ 12 สิงหาคม 2563 บีบีซี รายงานว่า ผลวิจัยที่เผยแพร่โดยวารสาร American Journal of Tropical Medicine and Hygiene ระบุว่า มีประมาณ 5,800 คน เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เนื่องจากข้อมูลเท็จบนโซเชียลมีเดีย

หลายคนเสียชีวิตจากการดื่มเมทิลแอลกอฮอล์ หรือ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะพวกเขามีความเชื่อผิดๆ ว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถรักษาไวรัสได้

ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของข่าวสารในสถานการณ์โควิด-19 รวดเร็วพอๆ กับตัวไวรัสเอง โดยทฤษฎีสมคบคิด ข่าวลือ และการตีตราทางวัฒนธรรมต่างๆ ล้วนมีส่วนทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับอันตราย

ข้อมูลเท็จคร่าชีวิต

เหยื่อจำนวนมากปฏิบัติตามคำแนะนำที่คล้ายกับข้อมูลทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือ เช่น การกินกระเทียมหรือวิตามินจำนวนมาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ขณะที่บางคนยอมดื่มสารต่างๆ เช่น ปัสสาวะวัว

นักวิจัย กล่าวว่า การกระทำเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงต่อสุขภาพของพวกเขา

ผลวิจัยสรุปด้วยว่า เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานระหว่างประเทศ รัฐบาล และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของข่าวสารในสถานการณ์โควิด-19 แต่บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่กลับถูกวิจารณ์ว่าตอบสนองช้าและไม่ต่อเนื่อง สำหรับในอังกฤษ คาดว่าการออกกฎหมายที่ใช้ควบคุมอันตรายในออนไลน์ต้องใช้เวลาอีกหลายปี

บีบีซีพบความเชื่อมโยงเกี่ยวกับการถูกทำร้าย การลอบวางเพลิง และการเสียชีวิต ซึ่งเป็นผลจากข้อมูลที่ผิดเกี่ยวกับไวรัส และได้พูดคุยกับแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ และเหยื่อ เกี่ยวกับประสบการณ์ของพวกเขา

ข่าวลือทางออนไลน์นำไปสู่การทำร้ายในอินเดีย และการวางยาพิษหมู่ในอิหร่าน วิศวกรโทรคมนาคมถูกขู่และทำร้าย มีการเผาเสาโทรศัพท์ในอังกฤษและหลายประเทศ เนื่องจากทฤษฎีที่ว่าเสาโทรศัพท์เป็นตัวปล่อยสัญญาณและทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด

โซเชียลมีเดียยังช่วยให้นักต้มตุ๋นได้ประโยชน์จากการระบาด โดยการขายป้ายที่อ้างว่าสามารถกำจัดไวรัส รวมถึงการทำเงินจากการขายอาหารเสริมมหัศจรรย์ ซึ่งจริงๆ แล้วคือ สารฟอกขาวชนิดเจือจาง

ทฤษฎีสมคบคิดต่อต้านวัคซีน

เมื่อมีการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 สำเร็จ คาดว่าจะมีการรณรงค์ให้ต้านวัคซีนทางโซเชียลมีเดีย เพื่อชักชวนให้ผู้คนไม่ปกป้องตัวเอง

แม้บริษัทโซเชียลมีเดียจะลบหรือแจ้งข่าวเกี่ยวกับข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับวัคซีน การสำรวจล่าสุดในสหรัฐฯ ยังพบว่า 28% ของชาวอเมริกันเชื่อว่า “บิล เกตส์” ต้องการใช้วัคซีน เพื่อฝังไมโครชิปในคน

แพทย์หลายคนให้สัมภาษณ์กับทีมต่อต้านข้อมูลเท็จของบีบีซีว่า ความสำเร็จของวัคซีนโควิดอาจถูกทำลายโดยข้อมูลที่บิดเบือน