จีนส่ง “เป่ยโต่ว” ท้าชน “จีพีเอส” เขย่า “ระบบดาวเทียมนำทางโลก”

จีพีเอสของจีน

การมีเทคโนโลยีชั้นสูงที่เหนือกว่าชาติอื่น ๆ และไม่พึ่งพาใคร นับว่าเป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศมหาอำนาจ ซึ่ง “ระบบดาวเทียมระบุตำแหน่งบนโลก” ก็เป็นเทคโนโลยีระดับสูงที่มีความจำเป็นอย่างมากในโลกยุคปัจจุบัน ทั้งด้านทหารและเศรษฐกิจ

โดยก่อนหน้านี้ ระบบดาวเทียมนำร่องที่ครอบคลุมทั่วโลกมีเพียง 3 ระบบเท่านั้น ได้แก่ “จีพีเอส” ของสหรัฐอเมริกา, “กาลิเลโอ” ของสหภาพยุโรป, “โกลนาส” ของรัสเซีย และล่าสุด

“จีน” ก็ได้เร่งพัฒนาระบบดาวเทียมของตนจนไล่ทันมหาอำนาจเหล่านี้เป็นที่เรียบร้อย

ทั้งนี้ จีนเริ่มพัฒนาโครงการระบบดาวเทียมนำทาง ที่เรียกว่า “เป่ยโต่ว” นับตั้งแต่เมื่อปี 1996 โดย “นัมราตา กอสวามิ” ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายทางอวกาศ ได้เขียนบทความลงใน “เดอะ ดิโพลแมต” ชี้ว่าในช่วงวิกฤตช่องแคบไต้หวันครั้งที่ 3 เกิดการเผชิญหน้าระหว่าง “จีนและไต้หวัน” โดยจีนวางแผนยิงมิสไซล์ไปยังบริเวณที่ใกล้เคียงกับฐานทัพของไต้หวัน ที่เมือง “จีหลง” แต่ “สหรัฐอเมริกา” ได้ตัดการเชื่อมต่อระบบดาวเทียมนำทาง “จีพีเอส” ส่งผลให้ภารกิจครั้งนั้นล้มเหลว

ซึ่ง “เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์” กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่าเป็น “ความน่าอับอาย” ของจีน แต่เป็นแรงผลักดันไปสู่การสร้างระบบดาวเทียมนำทางของตนเองขึ้นมา

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า จีนได้เปิดตัวเครือข่ายดาวเทียม “เป่ยโต่ว-1” เมื่อปี 2000 ซึ่งให้บริการระบบนำทางเฉพาะพื้นที่ในประเทศจีนเท่านั้น และจีนก็ได้พัฒนาเครือข่ายดาวเทียมของตนมาอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อปี 2012 เปิดตัวดาวเทียม “เป่ยโต่ว-2” ที่ครอบคลุมพื้นที่เอเชีย-แปซิฟิก

และการพัฒนาก็ประสบความสำเร็จถึงจุดสูงสุด เมื่อ 23 มิ.ย. 2020 ที่ผ่านมา หลังจากจีนส่งดาวเทียมดวงสุดท้ายของเครือข่าย “เป่ยโต่ว-3” ขึ้นสู่วงโคจรโลก ส่งผลให้สามารถให้บริการระบบดาวเทียมนำทางที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลก ทัดเทียมกับเครือข่ายดาวเทียมนำทาง “จีพีเอส”, “กาลิเลโอ” และ “โกลนาส”

ความสำเร็จของเครือข่ายดาวเทียม “เป่ยโต่ว” ได้ปิดจุดอ่อนของกองทัพจีน และยังเพิ่มศักยภาพการรบสมัยใหม่ของจีน ทั้งการโจมตีด้วยโดรน หรือขีปนาวุธทางไกล

นอกจากนี้ การที่จีนมีระบบดาวเทียมนำทางที่ครอบคลุมทั่วโลกเป็นของตัวเอง ยังส่งผลต่อการส่งออกระบบอาวุธของจีนไปยังทั่วโลก และเมื่อประเทศต่าง ๆ หันมาใช้ระบบอาวุธจากจีน ก็จะเป็นการเพิ่มบทบาททางการทหารของจีนไปโดยปริยาย และลดอิทธิพลทางการทหารของสหรัฐและรัสเซีย ที่ปัจจุบันทั่วโลกยังใช้ระบบอาวุธของทั้งสอง ที่อิงกับเครือข่ายดาวเทียม “จีพีเอส” และ “โกลนาส”

แม้ว่าการพัฒนาระบบดาวเทียมนำทางจะมีแรงผลักดันจากประเด็นทางการทหาร อย่างไรก็ดี “เป่ยโต่ว” กลับมีอิทธิพลอย่างมากต่อระบบนิเวศของเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล ท่ามกลางการแข่งขัน

การพัฒนาเทคโนโลยียุคใหม่อย่าง รถยนต์ไร้คนขับ หรืออุปกรณ์แทบทุกชนิดในยุคอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IOT) ซึ่งทำให้บริการระบบดาวเทียมนำทางกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจประเภทหนึ่ง โดยงานวิจัยจาก ReportLinker คาดการณ์ว่า ระบบดาวเทียมนำทางจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับทั่วโลก 155,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 และจะสร้างมูลค่าเพิ่ม 229,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2027

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สมาร์ทโฟนในประเทศจีนกว่า 70% และยานพาหนะอีกกว่า 6.2 ล้านคัน ในประเทศ ได้ใช้ระบบนำทางของเป่ยโต่ว เครือข่ายของเป่ยโต่วยังมีความสำคัญต่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซของจีน โดยพบว่ายานพาหนะส่งสินค้ากว่า 30,000 คัน ที่ติดตั้งระบบนำทางของเป่ยโต่ว

นอกจากนี้ จีนยังเร่งพัฒนาการทำเกษตรอัจฉริยะเพื่อผลิตอาหารเลี้ยงดูประชากรกว่าพันล้านชีวิต ซึ่งรายงานระบุว่า ปัจจุบันมีเครื่องจักรการเกษตรอัตโนมัติกว่า 50,000 เครื่อง ที่ใช้งานระบบของเป่ยโต่ว


แน่นอนว่า “จีน” พร้อมใช้ระบบดาวเทียม “เป่ยโต่ว” เพื่อนำทางการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล ทั้งการขยายตลาดแพลตฟอร์มการทำธุรกิจ หรือการส่งออกเทคโนโลยี ที่ไม่ต้องพึ่งพาเครือข่ายดาวเทียมนำทางของชาติใด ๆ ไปยังทั่วโลก