นักสิทธิทั่วโลกไว้อาลัย “หลิว เสี่ยวโป” นานาชาติร้องจีนปล่อยตัวภรรยาของเขาเป็นอิสระ

AFP PHOTO / Isaac Lawrence

นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปของนายหลิว เสี่ยวโป เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เเละนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในจีน พร้อมประณามจีนที่กระทำต่อเขาอย่างไร้มนุษยธรรม ขณะเดียวกันได้เรียกร้องให้จีนปล่อยตัวนางหลิว เสีย ภรรยาของนายหลิว เสี่ยวโปให้เป็นอิสระด้วย

โดยนายหลิว เสี่ยวโป วัย 61 ปี เสียชีวิตโรคมะเร็งตับระยะสุดท้ายวานนี้ (13 ก.ค.) ขณะที่ยังถูกรัฐบาลจีนควบคุมตัว ซึ่งทำให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกประณามรัฐบาลจีนว่าได้กระทำต่อนายหลิวเสี่ยวโปอย่างโหดร้าย ไม่ฟังเสียงเรียกร้องจากนานาชาติที่ขอให้เขาสามารถไปรักษาโรคร้ายที่ต่างประเทศเเละได้รับนิรโทษกรรม

ด้านข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า นายหลิว เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนด้วยสันติวิธี แต่กลับถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมเพียงเพราะยืนหยัดในสิ่งที่เขาเชื่อ

พร้อมกันนั้นคณะกรรมการโนเบล ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลจีนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของนายหลิว ซึ่งจากไปก่อนวัยอันควรเนื่องจากไม่ได้รับการปล่อยตัวให้ไปรักษาตัวในสถานที่ที่เหมาะสม

ขณะที่ สหรัฐและสหภาพยุโรปเรียกร้องให้รัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ปล่อยตัวภรรยาของนายหลิว ให้เป็นอิสระ รวมถึงอนุญาตให้เธอเดินทางออกนอกประเทศได้ หลังจากถูกทางการสั่งกักบริเวณให้อยู่แต่ภายในบ้านพักมาตั้งแต่ปี 2553

โดยนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ระบุว่า สหรัฐขอให้ทางการจีนอนุญาตให้นางหลิวเดินทางออกนอกประเทศได้ตามความต้องการของเธอ ด้านสหภาพยุโรปขอให้ทางการจีนให้อิสรภาพแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตในการเลือกสถานที่ฝังศพ

ด้านนายบอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ กล่าวตำหนิจีนที่ กีดกันไม่ให้นายหลิวไปรักษาตัวในต่างประเทศ จนเสียชีวิตในที่สุด ขณะที่เยอรมนีแสดงความผิดหวังที่จีนไม่ตอบรับข้อเสนอของเยอรมนีที่ต้องการรับนายหลิวมารักษาตัว

ฝ่ายชาวฮ่องกงจำนวนมาก ได้รวมตัวกันที่หน้าสำนักงานประสานความร่วมมือระหว่างจีนและฮ่องกง พร้อมเเสดงความอาลัยต่อการจากไปของนายหลิว เเละเเสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลจีน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยดูเเลความสงบเรียบร้อยอย่างเข้มงวด

สำหรับนายหลิว เสี่ยวโป เกิดที่มณฑลจี๋หลิน ศึกษาด้านวรรณกรรมและมีผลงานวรรณกรรมวิจารณ์ ที่ต่อมาถูกสั่งให้เป็นหนังสือต้องห้าม สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวรรณกรรมจากมหาวิทยาลัยศึกษาศาสตร์กรุงปักกิ่ง และเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง

บทบาททางการเมืองสำคัญเริ่มตั้งแต่มีส่วนร่วมในการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และถูกจับกุม โดยนายหลิวปฏิเสธข้อเสนอลี้ภัยทางการเมืองและยืนยันอยู่ในจีนต่อไป ซึ่งเขาถูกจับกุมข้อหา เผยแพร่ข้อความที่ส่งเสริมพฤติกรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิวัติ

หลังได้รับอิสรภาพ เขายังเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป และถูกจับอีกครั้งกรณีร่วมกับปัญญาชนนักวิชาการกลุ่มหนึ่งร่างแถลงการณ์ กฎบัตร 08 ซึ่งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปจีนไปสู่ประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญใหม่และมีรัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติ ต่อมาตำรวจจับกุมตัวเขา และถูกควบคุมตัว 1 ปี ก่อนจะมีการพิจารณาคดีได้รับโทษจำคุก 11 ปี จากความผิดฐานเผยแพร่ข้อความบ่อนทำลายชาติและบ่อนทำลายอำนาจรัฐ แต่ในระหว่างที่เขารับโทษในเรือนจำ เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ กระทั่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2553 เนื่องจากการต่อสู้อันยาวนานและปราศจากความรุนแรงเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในประเทศจีน โดยตลอดชีวิตเขาต้องโทษจำคุกทั้งหมด 4 ครั้ง

ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม แพทย์วินิจฉัยว่านายหลิวป่วยด้วยโรคมะเร็งตับระยะสุดท้าย ขณะที่ยังต้องรับโทษจำคุกอีก 3 ปี ทั้งนี้ ทางการจีนยอมให้พักโทษและปล่อยตัวจากเรือนจำมารับการรักษาที่โรงพยาบาลในจีน