“อัตราเกิดต่ำ” โควิดเอฟเฟกต์ ซ้ำเติมสังคมสูงวัย “แผลเก่า” ญี่ปุ่น

อัตราการเกิดในญี่ปุ่นลดต่ำ
FOCUS by Kyoko HASEGAWA

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในญี่ปุ่นที่กลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลเร่งผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากทั้ง “อัตราว่างงาน” ที่สูงขึ้น และการคาดการณ์หายนะทางเศรษฐกิจที่ไม่อาจเยียวยาได้ในเร็ววัน ได้สร้างความกังวลต่ออัตราการเกิด จากกลุ่มประชากรวัยแรงงานของญี่ปุ่นที่ต่ำอยู่แล้วอาจลดฮวบลงอีก ตามความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ยิ่งกดดันปัญหาสังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่นให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ข้อมูลของรัฐบาลญี่ปุ่นในปี 2019 มีชาวญี่ปุ่นอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป สัดส่วนสูงถึง 28.41% ของประชากรทั้งประเทศนับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่จำนวนทารกแรกเกิดลดลงต่ำกว่า 900,000 คนเป็นครั้งแรก ถือว่าเป็นสถิติที่น่ากังวลเนื่องจากประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เป็นอันดับที่ 3 ของโลก กำลังสูญเสียประชากรวัยทำงานอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางค่าใช้จ่ายด้านประกันสังคมที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของเงินบำนาญและค่ารักษาพยาบาลผู้สูงอายุที่กำลังเป็นภาระด้านงบประมาณอย่างหนัก

สถิติในปี 2019 ยังพบว่า จำนวนประชากรของญี่ปุ่นลดลงกว่า 500,000 คนในปีเดียว และลดลงต่อเนื่องกันมาเป็นเวลา 11 ปี แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะพยายามส่งเสริมให้ประชาชนมีบุตรมากขึ้น ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 แต่อัตราการเจริญพันธุ์หรือจำนวนทารกต่อสตรีวัยเจริญพันธุ์โดยเฉลี่ยในปี 2015 ยังอยู่ที่ 1.45 คน น้อยกว่าสถิติในสหรัฐอเมริกาที่ 1.84 คน, ฝรั่งเศส 1.92 คน และอังกฤษ 1.80 คน และอัตราการเจริญพันธุ์ของคนญี่ปุ่น ยังลดลงเป็นเวลา 4 ปีติดต่อกัน ลงมาอยู่ที่ 1.36 คนในปี 2019

“มาซาจิ มัตสึยามะ” สมาชิกวุฒิสภาญี่ปุ่น ระบุว่า “ญี่ปุ่นได้สูญเสียประชากรจำนวนมากเท่ากับคนทั้งจังหวัดทตโตะริ และการสำรวจของภาคเอกชนบางส่วนคาดการณ์ว่า จำนวนทารกแรกเกิดในปี 2020 อาจลดลงมาอยู่ที่ต่ำกว่า 700,000 คน ผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า และนี่คือภาวะฉุกเฉินที่แท้จริง”

แม้ว่าที่ผ่านมาจำนวนชาวต่างชาติในญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น ได้ช่วยทดแทนแรงงานชาวญี่ปุ่นที่ลดลง โดยในปี 2019 ญี่ปุ่นมีชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น 199,516 คน รวมจำนวนชาวต่างชาติที่อยู่ในญี่ปุ่นทั้งหมดราว 2.87 ล้านคน เป็นการเพิ่มขึ้นของชาวต่างชาติ 6 ปีติดต่อกัน แต่สถานการณ์โรคระบาดก็ทำให้การเดินทางข้ามพรมแดนไม่ใช่เรื่องง่าย และนำไปสู่การลดลงของจำนวนชาวต่างชาติในญี่ปุ่น

มัตสึยามะกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องแสดงให้สาธารณชนเห็นอย่างจริงจังในการจัดการปัญหาดังกล่าว พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลออก “นโยบายที่กล้าหาญ” เพื่อจูงใจให้คนหนุ่มสาวมีบุตรมากขึ้น อย่างเช่น การจัดงบประมาณให้สำหรับทารกแรกเกิดทุกราย ขั้นต่ำ 1 ล้านเยน

ขณะที่ “มะกิโกะ นะกะมุโระ” ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเคโอ ระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ และต้องจัดสรรงบประมาณสำหรับเด็กและการศึกษามากขึ้น หากต้องการยับยั้งอัตราการเกิดที่ลดลง โดยจากข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ชี้ว่า “สัดส่วนค่าใช้จ่ายของญี่ปุ่น สำหรับการศึกษาสาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อยู่ในระดับต่ำที่สุดในบรรดาประเทศที่ก้าวหน้า” นะกะมุโระยังระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นใช้งบประมาณโดยให้ความสำคัญกับ “ผู้สูงอายุ” มากกว่า “เด็ก” จนเกินไป

นอกจากนี้ นะกะมุโระยังไม่เห็นด้วยกับนโยบายฟรีค่าธรรมเนียมการศึกษาก่อนวัยเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กของรัฐบาลที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า “รัฐบาลควรเพิ่มสถานรับเลี้ยงเด็กให้เพียงพอ ก่อนที่จะขยายการให้บริการฟรี” โดยชี้ว่าปัจจุบันสถานรับเลี้ยงเด็กในญี่ปุ่นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ และการให้บริการฟรีทั่วประเทศนับเป็นการใช้งบประมาณไม่ตรงจุด และขัดต่อหลักของการประกันสังคม เนื่องจากผู้มีรายได้สูงได้รับผลประโยชน์อย่างมากในนโยบายนี้

อย่างไรก็ตาม ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมัตินโยบายกระตุ้นอัตราการเกิดครั้งใหญ่ โดยตั้งเป้าอัตราการเจริญพันธุ์เฉลี่ยต่อเด็กแรกเกิดที่ระดับ 1.8 คน โดยเสนอต่อรัฐสภาให้จัดสรรงบประมาณสำหรับรักษาภาวะเจริญพันธุ์ในประชาชนเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น การเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเพื่อส่งเสริมให้ผู้ชายลางานเลี้ยงดูบุตร รวมถึงการเพิ่มรัฐสวัสดิการต่าง ๆ สำหรับเด็กมากขึ้น

แต่รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงถูกตั้งคำถามถึงความสามารถในการจัดสรรงบประมาณตามนโยบายดังกล่าว ท่ามกลางวิกฤตการณ์โรคระบาดในครั้งนี้ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อฐานะทางการเงินของภาครัฐ