ยุโรป-สหรัฐ ควัก 1 ล้านล้านดอลลาร์ ย้ายออกจากจีน-แบงก์รับอานิสงส์

REUTERS/Joshua Roberts
ชีพจรเศรษฐกิจโลก : นงนุช สิงหเดชะ

การเปิดศึกการค้าเพื่อเล่นงานจีนของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ด้วยการเพิ่มอัตราจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ตามนโยบายที่จะบีบให้บริษัทอเมริกันย้ายฐานการผลิตจากจีนที่มีค่าแรงถูก กลับมาผลิตในอเมริกาเพื่อสร้างงานให้กับชาวอเมริกัน ซึ่งเป้าหมายสูงสุดก็คือ “สกัดการผงาดขึ้นของจีน” ในทุกด้าน ที่อเมริกามองว่าเป็นภัยคุกคามต่อโลกประชาธิปไตย ส่งผลให้เกิดความปั่นป่วนไปทั่วโลก

เพราะนอกจากจะกลับทิศนโยบายการค้าโลกจากการค้าเสรีมาเป็นการย้อนยุคสู่การกีดกันการค้าแล้ว ยังทำให้บรรดาบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก ที่ใช้จีนเป็นฐานการผลิตต้องเตรียมตัวย้ายออก เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเก็บภาษีสูงเมื่อส่งสินค้าไปขายยังอเมริกา

ในตอนแรกบริษัทส่วนใหญ่ทั้งบริษัทอเมริกันและอื่น ๆ รวมทั้งยุโรป ไม่ได้เคลื่อนไหวอย่างกระตือรือร้นมากนักในการย้ายออกจากจีน เพราะคิดว่าในที่สุดทั้งอเมริกาและจีนจะตกลงกันได้ แต่เมื่อสถานการณ์ยืดเยื้อจนถึงปัจจุบัน ทำให้บริษัทเหล่านี้เริ่มเคลื่อนไหวที่จะย้ายออกจากจีนอย่างจริงจัง

ยิ่งเมื่อจีนกลายเป็นต้นตอการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 กระทั่งต้องปิดประเทศ และโรงงานหลายแห่งต้องหยุดการผลิต สร้างความเสียหายให้กับบริษัทต่างชาติที่ต้องอาศัยการจัดป้อนสินค้า และวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนการผลิตจากจีน เกิดภาวะที่เรียกว่า “การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน” (supply chain disruption) อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่นกรณีโรงงานรถยนต์นิสสันในเกาะคิวชูของญี่ปุ่น ต้องหยุดการผลิตเป็นครั้งแรกนับจากก่อตั้งโรงงาน เพราะจีนไม่สามารถส่งชิ้นส่วนมาให้ได้ ยิ่งกลายเป็นตัวเร่งให้บริษัทต่างชาติตัดสินใจย้ายออกจากจีนมากขึ้น

ผลวิจัยของ “แบงก์ ออฟ อเมริกา” ล่าสุดระบุว่า แม้แต่ก่อนช่วงจะเกิดโควิด-19 ในจีน บริษัทต่างชาติหลายแห่งก็กำลังย้ายจากโลกาภิวัตน์หันมาผลิตในท้องถิ่นของตนแทนเพื่อหนีปัญหาห่วงโซ่อุปทาน อันเกิดจากข้อพิพาทการค้าจีนกับสหรัฐ ตลอดจนกังวลเรื่องความมั่นคงของประเทศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเฟื่องฟูของระบบอัตโนมัติซึ่งจะมาแทนที่การใช้แรงงานคน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการระบาดของไวรัส ซึ่งมีผลให้ภาคส่วนต่าง ๆ ของโลกประมาณ 80% ได้รับผลกระทบและเสียหายจาก supply chain disruption เร่งให้บริษัทต่าง ๆ มากกว่า 75% ต้องขยายขอบเขตแผนการย้ายการผลิตกลับประเทศ

“ประมาณ 67% ของบริษัทที่สำรวจ ชี้ว่าการย้ายห่วงโซ่อุปทานกลับประเทศจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่โดดเด่นในโลกหลังยุคโควิด-19” ผลวิจัยระบุ

การย้ายฐานผลิตกลับประเทศย่อมมีค่าใช้จ่าย ซึ่งแบงก์ ออฟ อเมริกา ประเมินว่าการย้ายการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกของบริษัทอเมริกันและยุโรปออกจากจีนจะต้องใช้ต้นทุนราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้อัตราผลตอบแทนในหุ้นของบริษัทลดลงประมาณ 0.7% และมาร์จิ้นของกระแสเงินสดหลังหักค่าใช้จ่าย (free cash flow) ลดลง 1.11% แต่ก็จะถูกชดเชยด้วยผลตอบแทนจากการที่ต้องเสี่ยงมากขึ้น (risk premium) เช่นว่า ฝ่ายบริหารของบริษัทก็ต้องใช้ความพยายามมากขึ้นเพื่อลดต้นทุน นอกจากนี้คาดว่ารัฐบาลก็จะช่วยเหลือบริษัทเหล่านี้ในการย้ายฐานกลับประเทศผ่านการยกเว้นภาษี การให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือการอุดหนุนในรูปแบบอื่น อย่างที่เห็นได้จากมาตรการของรัฐบาลสหรัฐ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ไต้หวัน เป็นต้น ที่ประกาศออกมาแล้ว

ผลพวงที่จะตามมาหลังปรากฏการณ์แห่ย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ ก็คือหุ้นที่เกี่ยวกับวิศวกรรมก่อสร้างและเครื่องจักร ระบบอัตโนมัติในโรงงานหุ่นยนต์ โรงงานอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์ประเภทแอปพลิเคชั่นและบริการจะได้รับประโยชน์ ขณะเดียวกันธนาคารในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชียใต้อาจได้รับประโยชน์เช่นกันจากที่มีกิจกรรมเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นหลังบริษัทต่าง ๆ ย้ายฐานการผลิต

“พอล โดโนแวน” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ยูบีเอส โกลบอล เวลท์ แมเนจเมนต์ บอกว่า การย้ายฐานการผลิตกลับประเทศจะได้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ ต่อเมื่อเป็นแนวทางที่บริษัทเลือกเองจากการประเมินประสิทธิภาพ ไม่ใช่ถูกบังคับผ่านภาษีการค้าหรือนโยบายด้านภาษี การที่สหรัฐเก็บภาษีสินค้าจีนเมื่อปีที่แล้ว ส่วนใหญ่จะพบว่าบริษัทสหรัฐต้องแบกรับภาระด้วยการบีบกำไรให้น้อยลง ซึ่งในระยะยาวจะทำให้บริษัทมีประสิทธิภาพน้อยลง และยังเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อ

โดโนแวนชี้ว่า ถ้าบริษัทต่าง ๆ เต็มใจย้ายฐานการผลิตกลับประเทศด้วยเหตุผลเรื่องการใช้ระบบอัตโนมัติ ดิจิทัล และหุ่นยนต์ หมายความว่าพวกเขาสามารถย้ายกลับมาใกล้ชิดผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถลดต้นทุนได้มากก็ถือว่าสมเหตุสมผลในทางธุรกิจ หากเป็นแบบนี้จะช่วยบรรเทาความเสียหายจากนโยบายปกป้องการค้า แต่ถ้าหากบริษัทถูกบีบบังคับให้ย้ายผ่านการใช้ภาษีเพื่อจูงใจ จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี

“ถ้าบริษัทต่าง ๆ บอกว่า การผลิตในเสิ่นเจิ้นของจีนไม่มีประสิทธิภาพอีกต่อไป เราจะไปผลิตในนิวยอร์กแทน ถ้านั่นเรียกว่ามีประสิทธิภาพก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี”

นโยบายของทรัมป์ที่บีบให้บริษัทอเมริกันย้ายการผลิตกลับมาในประเทศ ถูกโต้แย้งอยู่เสมอว่าจะไม่ช่วยทำให้ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทอเมริกันดีขึ้น เนื่องจากค่าแรงที่แพง

ผลสำรวจก่อนหน้านี้ของหอการค้าอเมริกันในจีน พบว่าแม้บริษัทอเมริกันมีแผนจะย้ายออกจากจีน แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ย้ายกลับอเมริกา แต่ไปประเทศอื่นที่มีค่าแรงถูกกว่าและมีแรงงานมากกว่า เช่น เวียดนาม เม็กซิโก ในขณะที่ค่าแรงและต้นทุนในอเมริกาสูงกว่ามาก