เศรษฐกิจ-การเมือง กับคอร์รัปชั่นมาเลเซีย

(Photo by Fandy AZLAN / DEPARTMENT OF INFORMATION / AFP)
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

การถูกจับกุมและตั้งข้อหาคอร์รัปชั่นต่อ ลิม กวนเอ็ง อดีตรัฐมนตรีคลังของมาเลเซีย เมื่อต้นเดือนสิงหาคม สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางทางการเมืองของมาเลเซีย ในยามนี้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งปัญหาก็คือ ความเปราะบางทางการเมืองเกิดขึ้นในยามที่เศรษฐกิจของประเทศทรุดตัวลงอย่างรุนแรง เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลเสียหายทั้งต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม และเศรษฐกิจของมาเลเซียอย่างหนักหน่วง

ลิม กวนเอ็ง ถูกกล่าวหาว่า คอร์รัปชั่นในโครงการก่อสร้างอุโมงค์ใต้น้ำเชื่อมเกาะปีนังกับแผ่นดินใหญ่มาเลเซีย ระยะทาง 7.2 กิโลเมตร โครงการนี้เป็นโครงการริเริ่มของ นาจิบ ราซัก อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งถูกพิพากษาว่ามีความผิดจริงตามข้อกล่าวหาว่า คอร์รัปชั่นในกองทุนวันเอ็มดีบี (1MDB) เมื่อปี 2016

โดยโครงการก่อสร้างนี้มูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์ รัฐบาลกล่าวหาว่า ลิม กวนเอ็ง เรียกเงิน 10 เปอร์เซ็นต์ จากเซนิต บียูซีจี คอนซอร์เตียม ผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งโครงการอุโมงค์ใต้น้ำนี้มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2025 แต่จนกระทั่งถึงตอนนี้ยังคงเป็นโครงการอยู่บนกระดาษเพราะอื้อฉาวทางการเมือง เต็มไปด้วยการกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่น จนยังเริ่มต้นโครงการไม่ได้เลยแม้แต่น้อย แต่ที่

น่าสนใจก็คือ คณะกรรมการต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งมาเลเซีย (เอ็มเอซีซี) เคยสืบสวนสอบสวนกรณีคอร์รัปชั่นอุโมงค์ใต้น้ำปีนังนี้มานานหลายปี จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สามารถกล่าวหาผู้ใดได้ รวมทั้ง ลิม กวนเอ็ง ผู้สันทัดกรณี หลายคนจึงเชื่อว่า การกล่าวหาอดีตรัฐมนตรีคลังครั้งนี้เป็นปมเงื่อนทางการเมือง มากกว่าจะเป็นเพราะมีหลักฐานบ่งชี้ที่แท้จริง

ทั้งนี้ ลิม กวนเอ็ง เป็นรัฐมนตรีคลังของรัฐบาล พากาตัน ฮารัปปัน กลุ่มพันธมิตรที่มี มหาธีร์ โมฮัมหมัด เป็นนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่สามารถโค่นอัมโน พ้นวงจรอำนาจของมาเลเซีย เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2018

โดยมหาธีร์ลาออกกะทันหันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพราะถูกลูกพรรคส่วนหนึ่งหักหลัง หนึ่งในคนที่เล่มเกมการเมืองโค่นมหาธีร์ คือ ยัสซิน มูห์ยิดดิน ซึ่งก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนมีนาคม ด้วยการนำลูกพรรคส่วนหนึ่งแปรพักตร์ไปร่วมกับอัมโน และพรรคปาส ฟอร์มรัฐบาลผสมที่มีตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี

ปัญหาของมูห์ยิดดิน คือ รัฐบาลผสมของมาเลเซียในปัจจุบัน มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งอยู่เพียง 2 เสียง ในขณะที่ในอัมโนเองก็แตกกันเป็นหลายก๊ก และยังมี ส.ส.อีกไม่น้อยที่ยังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลของนาจิบ ราซัก ซึ่งถูกศาลชั้นต้นตัดสินว่า ผิดและลงโทษจำคุก 12 ปี พร้อมกับปรับเงินอีก 49 ล้านดอลลาร์

นั่นคือที่มาที่ทำให้นักวิเคราะห์การเมือง รวมทั้ง ลิม กวนเอ็ง เองเชื่อว่า การเล่นงานตนเองด้วยข้อหาคอร์รัปชั่นเป็นเกมการเมือง และเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมการของรัฐบาลมาเลเซีย สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ ที่อาจจะมาถึงเร็วกว่าที่กำหนดไว้ในปี 2023

ในขณะที่กล่าวหาอดีตรัฐมนตรีคลังว่า คอร์รัปชั่น รัฐบาลมาเลเซียเองก็ตกเป็นจำเลย ถูกกล่าวหาเรื่องขีดความสามารถของรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งและความโปร่งใสอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน

การแต่งตั้งบุคคลเข้ารับตำแหน่ง คำนึงถึงการ “จัดสรรผลประโยชน์” ระหว่างพรรคร่วม มากกว่าพิจารณาถึงขีดความสามารถ กลายเป็นเงื่่อนปมให้เกิดข้อกังขาเรื่องความโปร่งใสของรัฐบาลขึ้นตามมาและยิ่งทำให้สถานะของรัฐบาลมาเลเซียในยามนี้เปราะบางมากขึ้นไปอีก ส่งผลสะเทือนร้ายแรงต่อนักลงทุนต่างชาติ

เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ยูโรมันนีสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนต่างชาติ เพื่อประเมินระดับความเสี่ยงทางการเมืองพบว่า ความเสี่ยงทางการเมืองในมาเลเซีย ซึ่งเป็นลบมาตลอดตั้งแต่เกิดคดีฉาวอย่างวันเอ็มดีบี ยิ่งแย่ลงไปอีกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

โดยอันดับของมาเลเซียร่วงลง 15 อันดับในปีนี้ และถ้าเทียบกับเมื่อปี 2015 ก็จะร่วงลงมามากถึง 31 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 67 จากจำนวนประเทศที่สำรวจ 174 ประเทศ มีความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ในระดับเดียวกับจอร์แดนและโรมาเนีย อยู่ในระดับต่ำกว่าไทย 10 อันดับ ต่ำกว่าจีน 12 อันดับ และต่ำกว่าเกาหลีใต้ 19 อันดับ

อีกทั้งภาพรวมทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงว่าด้วยการจ้างงาน/การว่างงาน ถูกลดระดับลงมามากยิ่งขึ้นในปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารโลกปรับประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของมาเลเซียในปีนี้ลงจาก -01 เปอร์เซ็นต์ ในตอนเดือนเมษายน มาเป็น -3.1 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนมิถุนายน

คำเตือนของนักวิเคราะห์ประจำบริษัทบริหารจัดการข่าวกรองและความเสี่ยงทางการเมือง (ปริซึม) ต่อมาเลเซีย ล่าสุดก็คือ เศรษฐกิจของมาเลเซียในอนาคตอันใกล้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ การบริหารจัดการของสถาบันทางการเมืองของประเทศว่าจะทำให้อุตสาหกรรมสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีเสถียรภาพได้หรือไม่


ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถเป็นไปได้ ตราบใดที่รัฐบาลยัง “ไม่นิ่ง” อย่างยิ่งเหมือนเช่นในตอนนี้