จีนกร้าว สหรัฐ ใช้ “ตรรกะเผด็จการ” กรณีคว่ำบาตร 24 บริษัทจีน

จีนด่าสหรัฐฯ เผด็จการ

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกร้าว สหรัฐฯ ใช้ “ตรรกะเผด็จการ” กรณีคว่ำบาตร 24 บริษัทจีน ที่มีบทบาทต่อการถมทะเลสร้างเกาะเทียม ขู่จะตอบโต้ปกป้องสิทธิและผลประโยชน์

หลังมีรายงานว่าจีนยิงขีปนาวุธ 2 ลูก ลงทะเลจีนใต้ เพื่อตอบโต้กรณีสหรัฐฯ ส่งเครื่องบินสอดแนมเข้ามาบริเวณที่จีนกำลังซ้อมรบ ต่อมา กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้ขึ้นบัญชีดำ บริษัทจีน 24 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในเครือของบริษัทการก่อสร้างการสื่อสารจีน จากการมีบทบาทต่อการถมทะเล เพื่อสร้างเกาะเทียม สร้างความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล

วันที่ 27 สิงหาคม 2563 ไต้หวันนิวส์ รายงานว่า ล่าสุด จีนได้กล่าวโจมตีการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ โดยระบุว่า มาตรการของสหรัฐฯ นั้น ผิดกฎหมาย และ ขับเคลื่อนโดย “ตรรกะเผด็จการ”

ที่ผ่านมา จีนพยายามอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนตามเส้นทางเดินเรือที่เป็นข้อพิพาท ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางการค้าที่พลุกพล่านที่สุดในโลก ด้วยการสร้างเกาะเทียม รวมถึงสร้างฐานทัพ ท่าเรือ และ รันเวย์

การคว่ำบาตรครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ ที่ประกาศเมื่อวันพุธ เล็งเป้าหมายไปที่เจ้าหน้าที่และบริษัทจีน 24 แห่ง ที่มีบทบาทในการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างเหล่านี้

“เจ้า ลี่เจียน” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า การกระทำของสหรัฐฯ เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างร้ายแรง ทั้งยังละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และ ปทัสถานระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามตรรกะเผด็จการ หรือ เกมการแย่งชิงอำนาจ

ทั้งนี้ ทางการสหรัฐฯ ปฏิเสธการอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของจีน ซึ่งบางส่วนยังทับซ้อนกับประเทศอื่นๆ ทั้ง ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และ ไต้หวัน

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่า 24 บริษัท ที่ถูกคว่ำบาตร ได้ละเมิดข้อเรียกร้องของชาติอื่นๆ โดยการอนุญาตให้จีนนำทหารเข้าไปประจำในพื้นที่พิพาท บริษัทเหล่านี้จึงถูกเพิ่มรายชื่อเข้าไปในบัญชีดำ เพื่อจำกัดการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของสหรัฐฯ

ขณะที่ “เจ้า” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า การก่อสร้างต่างๆ บนเกาะนั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทหารของจีน และ อยู่ในขอบเขตของอำนาจอธิปไตย

“จีนจะใช้มาตรการที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์” เจ้ากล่าว โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดของมาตรการที่จะใช้ตอบโต้สหรัฐฯ

เขายังประกาศด้วยว่า “จะไม่ยอมจำนน แม้แต่นิดเดียว”

ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทั้ง 2 ประเทศ ต่างกล่าวหาซึ่งกันและกันว่า มีเจตนายั่วยุในทะเลจีนใต้

นอกจากนี้ สองประเทศมหาอำนาจยังเผชิญหน้ากันในปัญหาอื่นๆ เช่น เทคโนโลยี การค้าระหว่างประเทศ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การปกครองตนเองของฮ่องกง และ การจัดการกับการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ของจีน