ช่องโหว่ทางกฎหมาย “สหรัฐ” เปิดช่อง “รัฐอริ” แทรกแซงเลือกตั้ง

ช่องโหว่ทางกฎหมายกับการเลือกตั้งสหรัฐ
(Photo by CHANDAN KHANNA / AFP)

เหตุการณ์แทรกแซงทางการเมืองภายในประเทศจากต่างชาตินับว่าเป็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

เหตุการณ์ที่ลือลั่นที่สุดก็คงหนีไม่พ้นการแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐ เมื่อปี 2016 ซึ่งรัสเซีย “แฮก” เข้าระบบคอมพิวเตอร์ของพรรคเดโมแครต และปล่อยข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตเพื่อโจมตี “ฮิลลารี คลินตัน” ระหว่างช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่ามีส่วนช่วยเหลือให้ “โดนัลด์ ทรัมป์” สามารถคว้าชัยชนะจนกลายเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐ

ดังนั้น ทางการสหรัฐจึงตื่นตัวและพยายามป้องกันการแทรกแซงจากต่างชาติ เพื่อป้องกันการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. 2020 นี้

อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงการเมืองของสหรัฐไม่ได้จำกัดอยู่แค่วิธีการทางไซเบอร์ โดยเมื่อ 11 ส.ค. 2020 กองทุนเยอรมันมาร์แชลแห่งสหรัฐอเมริกา สำนักงานด้านนโยบายสาธารณะจากวอชิงตัน ดี.ซี. ได้เปิดเผยงานวิจัยที่ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศอำนาจนิยมอย่างรัสเซีย, จีน และอิหร่าน ได้ “แอบ” สนับสนุนเงินทุนให้กับพรรคการเมือง, แคนดิเดต หรือกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองต่าง ๆ ของประเทศประชาธิปไตยตะวันตก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สหรัฐอเมริกา” เป็นเงินราว 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายและทิศทางการเมือง

ทั้งนี้ การสนับสนุนด้านเงินทุนให้พรรคการเมือง หรือนักการเมือง เพื่อชี้นำนโยบายของภาครัฐที่เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ เป็นสิ่งที่ “บริษัท” หรือ “บุคคล” สามารถกระทำได้อย่างเปิดเผยในสหรัฐ แต่ว่าหากเงินทุนสนับสนุนมาจาก “รัฐต่างชาติ” เพื่อชี้นำนโยบายและทิศทางการเมือง ก็ย่อมเป็นภัยคุกคามและเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม กฎหมายของสหรัฐเองก็ได้เปิดช่องให้รัฐต่างชาติสามารถ “แอบ” สนับสนุนเงินทุนเพื่อชี้นำการเมืองภายในประเทศได้ ดังเช่น “ทีมหาเสียง” ของแคนดิแดตในสหรัฐ สามารถรับเงินบริจาคได้โดยไม่ต้องเปิดเผยรายละเอียดแหล่งที่มา ซึ่งเป็นช่องโหว่ให้ต่างชาติสามารถเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งได้โดยตรง

โดย “นิวยอร์ก ไทมส์” รายงานยกตัวอย่างถึงกรณีการแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐ เมื่อปี 2016 โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซึ่งกระทรวงยุติธรรมสหรัฐได้กล่าวหาว่า “จอร์จ นาเดอร์” ที่ปรึกษาของเจ้าชาย “โมฮัมหมัด บิน ซายิด” แห่งยูเออี ได้ “แอบ” บริจาคเงินให้กับทีมหาเสียงของ “ฮิลลารี คลินตัน” กว่า 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างอิทธิพลในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ

นอกจากนี้ รัฐต่างชาติยังสามารถแทรกแซงผ่าน “องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร” ที่กฎหมายไม่ได้บังคับให้เปิดเผยแหล่งที่มาของ “ผู้บริจาคเงิน” มากนัก ซึ่งก็เป็นอีกช่องทางที่รัฐต่างชาติลักลอบสนับสนุนเงินทุนให้กับกลุ่มการเมืองภายในประเทศ

ดังเช่นกรณี “มาเรีย บูตินา” เมื่อปี 2018 ซึ่งเธอถูกทางการสหรัฐกล่าวหาว่าเป็นสายลับรัสเซีย และสั่งจำคุก 18 เดือน จากการแอบสนับสนุนกลุ่มการเมืองสายอนุรักษนิยมของพรรครีพับลิกัน ผ่านทาง “สมาคมปืนไรเฟิลแห่งสหรัฐอเมริกา” (เอ็นอาร์เอ) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทรงอิทธิพลอย่างมากในสหรัฐ และยังเป็นผู้ออกเงินสนับสนุนทีมหาเสียงของ “ทรัมป์” เมื่อปี 2016 กว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“จอร์ช รูดอล์ฟ” นักวิจัยของกองทุนเยอรมันมาร์แชลชี้ว่า เงินทุนสนับสนุนจากต่างชาติเหล่านี้นับว่าเป็นภัยที่สามารถชี้นำทิศทางการเมืองของสหรัฐได้ ไม่ต่างจากการโจมตีทางไซเบอร์ อย่างไรก็ตาม นิตยสาร “ฟอรีน โพลีซี” รายงานว่า สหรัฐยังไม่ได้เร่งดำเนินการปิดช่องโหว่เหล่านี้เท่าที่ควร ดังนั้น ต่างชาติจึงยังสามารถแทรกแซงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. 2020 นี้

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้ลงมติรับรองร่างกฎหมาย SHIELD Act ซึ่งเป็นร่างกฎหมายเพื่อป้องกันต่างชาติเข้าแทรกแซงการเลือกตั้ง โดยร่างกฎหมายนี้ถูกนำเสนอโดยพรรคเดโมแครต เมื่อปลายปี 2019 ซึ่งบังคับให้ทีมหาเสียงเลือกตั้งจำเป็นต้องแจ้งข้อมูลเงินบริจาค รวมถึงความช่วยเหลือรูปแบบอื่น ๆ จากชาวต่างชาติต่อสำนักสอบสวนกลางของสหรัฐ (เอฟบีไอ) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับการต่อต้านจากพรรครีพับลิกัน และยังคงติดค้างอยู่ในวุฒิสภา และจะไม่ทันใช้งานในการเลือกตั้งครั้งนี้ รวมถึงร่างกฎหมาย DISCLOSE Act เมื่อปี 2019 ที่กำหนดให้องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะถึงตัวตนของผู้บริจาคให้กับกิจกรรมทางการเมือง ที่ปัจจุบันสภาผู้แทนราษฎรรับรองแล้ว แต่ก็ยังติดค้างอยู่ในวุฒิสภาเช่นกัน

เพราะกฎหมายเหล่านี้จะเป็นการตัดท่อน้ำเลี้ยงของกลุ่มการเมือง ซึ่งย่อมขัดผลประโยชน์ของกลุ่มที่มีอำนาจออกกฎหมาย ดังนั้น ร่างกฎหมายจึงยังไม่ได้รับการผลักดันเท่าที่ควร แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นก็ตาม