พิษ “กาตาลุญญา” ขอแยกตัว สะเทือน “สเปน” สะท้าน “อียู”

เหมือนความสงบสุขเกิดขึ้นได้ไม่นานนักสำหรับสหภาพยุโรป (อียู) เพราะหลังจากประเด็นปัญหาอังกฤษขอถอนตัวออกจากอียู จนสั่นสะเทือนโลกมาแล้ว เริ่มซาลงไปและเข้าที่เข้าทาง แต่ล่าสุดนี้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสเปน ทำให้เกิดความหวั่นใจว่าจะเกิดความแตกแยกร้าวลึกขึ้นอีกในอียู

เมื่อชาวกาตาลันของแคว้นกาตาลุญญา ซึ่งเป็นแคว้นปกครองตนเองของสเปน ได้จัดให้มีการลงประชามติขอแยกตัวเป็นอิสระจากประเทศสเปน ซึ่งผลประชามติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ชาวกาตาลันร้อยละ 90 เห็นด้วยในการแยกตัวระหว่างการจัดทำประชามติ รัฐบาลกลางสเปนได้พยายามขัดขวาง จนทำให้เกิดการปะทะกัน มีผู้บาดเจ็บหลายร้อยคน

นับเป็นเหตุการณ์รุนแรงมากครั้งหนึ่ง จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลสเปนและแคว้นกาตาลุญญาลดลงจนถึงจุดต่ำสุด

ขณะที่รัฐบาลสเปนไม่อาจยอมให้มีการแยกตัวได้ โดยระบุว่าขัดรัฐธรรมนูญ ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนการแยกตัวได้อ้างว่าผลประชามติที่ออกมาถือว่ากาตาลุญญาได้รับสิทธิที่จะแยกตัวแล้ว และหากรัฐบาลสเปนไม่ยอมรับ พวกตนก็จะประกาศเอกราชฝ่ายเดียว

ประเด็นที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษก็คือ หากกาตาลุญญาแยกตัวไปจากสเปนจริง จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงต่อทั้งสเปนและกาตาลุญญา โดยในฟากสเปนนั้น การสูญเสีย “กาตาลุญญา” ก็เทียบเท่ากับสหรัฐอเมริกาสูญเสียรัฐ “แคลิฟอร์เนียและฟลอริดา” รวมกัน เพราะขนาดเศรษฐกิจของแคว้นกาตาลุญญาคิดเป็นประมาณ 20% ของจีดีพีสเปน มากกว่าสัดส่วนเศรษฐกิจของรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีต่อสหรัฐอเมริกาทั้งหมด

กาตาลุญญา มีสัดส่วนประชากรเพียง 16% ของประชากรสเปนทั้งหมด แต่สร้างรายได้ 2.236 แสนล้านยูโรต่อปี เป็นแคว้นที่มั่งคั่งจากการขยายตัวของภาคท่องเที่ยว, ส่งออก, การผลิตและอุตสาหกรรม โดยเมืองเอกของกาตาลุญญาก็คือบาร์เซโลนา ในส่วนของกาตาลุญญานั้น หากแยกตัวจากสเปนก็จะไม่ต้องเสียภาษีปีละ 1,600 ล้านยูโรให้กับสเปน ในทางกลับกันสเปนก็จะเสียรายได้จากส่วนนี้ไป

แต่ขณะเดียวกัน การส่งออกของกาตาลุญญาจะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากร้อยละ 35.5 ส่งออกไปยังสเปน เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายที่ต้องจัดตั้งประเทศใหม่ ทั้งการตั้งสถานทูต ธนาคาร ฯลฯ ก็ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายมหาศาลสำหรับกาตาลุญญา โดยก่อนหน้านี้รัฐมนตรีเศรษฐกิจสเปนได้ออกมาระบุว่า หากแยกตัวออกไป เศรษฐกิจกาตาลุญญาอาจจะหดตัวลง 25-30% การว่างงานจะพุ่งขึ้นเท่าตัว

“อเลน เกวงกา” อาจารย์มหาวิทยาลัยซาราโกซา ของสเปน ชี้ว่า หากแยกตัวออกไป และมีการสร้างเขตแดนขึ้น ประชาชนของทั้งสองฝ่ายจะได้รับผลกระทบ เพราะจะเกิดการตกงาน สูญเสียรายได้ ที่สำคัญไม่มีใครบอกได้ว่าช่วงการเปลี่ยนผ่านจะใช้เวลามากน้อยแค่ไหนจึงจะลงตัว ซึ่งระหว่างที่ยังไม่ลงตัวนี้ก็หมายความว่าเกิดความสูญเสียทั้งด้านการค้า การลงทุน การจ้างงาน

ในประเด็นของการเข้าเป็นสมาชิกอียู หากกาตาลุญญาต้องการคงสถานะการเป็นสมาชิกอียู ก็ไม่สามารถเป็นได้โดยอัตโนมัติ หากแต่ต้องได้รับการเห็นชอบเอกฉันท์จากสมาชิกอียูทั้งหมดรวมทั้งสเปนด้วย ซึ่งมีแนวโน้มว่าสเปนจะไม่โหวตอนุญาตให้กาตาลุญญาเป็นสมาชิกแน่ หากกาตาลุญญาถูกปฏิเสธการเป็นสมาชิกอียู ก็จะทำให้เศรษฐกิจกาตาลุญญามีปัญหา เพราะอียูเป็นตลาดส่งออกของกาตาลุญญา 65.8%

นอกจากนั้นกาตาลุญญาอาจต้องเผชิญการบอยคอตจากสเปน อีกทั้งเศรษฐกิจอาจปั่นป่วนจากการแยกตัวไม่ใช้เงินสกุลยูโร ถูกตั้งกำแพงภาษีสินค้าและบริการสูงขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นก็หมายความว่าฝ่ายสนับสนุนการแยกตัวก็มีราคาต้องจ่ายมาก

ทางด้านคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ออกมาเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายใช้วิธีเจรจากันโดยเร็ว เพราะความรุนแรงไม่เคยแก้ปัญหาทางการเมืองได้ แต่ก็ไม่วายเตือนว่าหากกาตาลุญญาแยกตัวออกไป ก็จะต้องอยู่นอกอียูไปด้วย

นักวิเคราะห์ด้านการเมืองเชื่อว่าหากกาตาลุญญายังเดินหน้าประกาศเอกราช ก็มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลสเปนจะอาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 155 เข้ายึดอำนาจกาตาลุญญาชั่วคราว