ปัจจัยเสี่ยง “เอเชียตะวันออก” ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดตัวรายงาน “ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก” ฉบับเดือนตุลาคม โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ส่งผล “บวก” ต่อเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 6.4 ในปี 2017

ดร.ชูเดียร์ แชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก นำเสนอรายงานเล่มล่าสุดจากธนาคารโลกระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การเติบโตอย่างเข้มแข็งของประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า การฟื้นตัวของราคาสินค้า และอุปสงค์ที่เข้มแข็งภายในของภูมิภาคเอเชียตะวันออก ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้ การสร้างสมดุลของการลงทุนและการบริโภคในจีน คาดว่าจะดำเนินต่อไป แต่การเติบโตของจีดีพีจีนอาจลดลงเหลือเพียง 6.4% ในปี 2018

ขณะที่ไทยและมาเลเซียได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้เป็น 3.5% และ 5.2% ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกที่เข้มแข็ง และภาคท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคเกษตรและผลิตของเวียดนามที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตไปด้วย คาดว่าปีนี้จะโตที่ 6.3%

ด้านฟิลิปปินส์ มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะเติบโตชะลอตัวลงจากปี 2016 จีดีพีอยู่ที่ 6.9% คาดว่าปี 2017 จีดีพีจะอยู่ที่ 6.6% เนื่องจากการลงทุนภาครัฐที่ช้าลงกว่าแผนที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมจะดูสดใส แต่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกแห่งนี้ยังคงมี “ปัจจัยเสี่ยง” ต่าง ๆ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ดร.ชูเดียร์ระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ นโยบายเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน และความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นทางภูมิรัฐศาสตร์ อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อแนวโน้มการเติบโตของเอเชียตะวันออก

นโยบายเศรษฐกิจโลกที่ว่า ได้แก่ “การกีดกันทางการค้าและชาตินิยม” ที่จะบั่นทอนการค้าโลก ขณะที่ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ อย่างกรณีที่สหประชาชาติสั่งคว่ำบาตรเกาหลีเหนือครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน ผลจากเกาหลีเหนือทดลองนิวเคลียร์ ทำให้เอเชียตะวันออกซึ่งประเทศส่วนใหญ่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยการผลิตและการค้าได้รับผลกระทบ ทำให้อุตสาหกรรมเกิดความไม่ต่อเนื่องเหมือนที่เคยเป็นมา

อีกความเสี่ยงที่ละเลยไม่ได้ คือ ความเสี่ยง “ภาคการเงิน” ในบางประเทศที่ยังคงมีความเปราะบางอาจจะแย่ลงได้ เนื่องจากตลาดเงินของโลกที่มีมาตรการกำกับมากขึ้น โดยสิ่งที่น่าจับตาในภูมิภาคเอเชียตะวันออก คือ ภาคเอกชนมีหนี้สินสูงตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกปี 2009 และมีการเสื่อมสภาพของสินทรัพย์, การให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากภาคการเงินที่สูงขึ้นในจีน รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น ไทย และมาเลเซีย ที่หนี้ครัวเรือนสูงถึง 70% ของจีดีพี รวมทั้งจีน ที่หนี้ครัวเรือนสูงถึง 44% ของจีดีพีในปี 2016

และบางประเทศอาจต้องระมัดระวังความเสี่ยงการขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้น จากที่มีมากอยู่แล้ว จากการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย แม้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจะมีมากพอ แต่อาจจะต้องเผชิญความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน หากธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

นอกจากนี้ ดร.ชูเดียร์ยังเตือนว่า หลายประเทศในเอเชียตะวันออกได้ใช้นโยบายขาดดุลงบประมาณเพื่อหนุนให้เกิดการเติบโต ซึ่งคาดว่าภูมิภาคนี้จะยังมีการขาดดุลงบประมาณสูงในช่วงปี 2017-2019 ต่อไป และจะน่าเป็นห่วงในกรณีที่ประเทศที่มีการขาดดุลงบประมาณสูง ควบคู่ไปกับมีหนี้สาธารณะที่สูง เพราะอาจกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ

ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้แนะนำว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ควรสร้างนโยบายที่มี “สมดุล” ระหว่างสิ่งที่ต้องทำอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น กับเป้าหมายระยะยาวเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ และให้ความสำคัญกับการลงทุนของภาครัฐอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ ลาว อย่าคำนึงเพียงมาตรการการเติบโตระยะสั้น

นอกจากนี้ ทุกประเทศในภูมิภาคควรส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างความมีส่วนร่วมของคนในประเทศทั้งในด้านการเข้าถึงการบริการของภาครัฐและการศึกษา เพื่อเพิ่มตำแหน่งงานและลดความยากจน เนื่องจากในภูมิภาคนี้แม้ความยากจนจะลดลงมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ความเหลื่อมล้ำยังคงสูงและขยายตัวมากขึ้น

ขณะที่การต่อต้านการกีดกันทางการค้า ถือเป็นหนึ่งในข้อแนะนำสำคัญของธนาคารโลก “การรวมตัวระดับภูมิภาคจะช่วยชดเชยความเสี่ยงจากการกีดกันทางการค้าได้ อย่างเช่นการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ดร.ชูเดียร์กล่าว

นอกจากนี้ ดร.ชูเดียร์ยังให้คำแนะนำต่อประเทศเวียดนามและจีนว่า ต้องมีการปฏิรูปอย่างลึกซึ้งต่อรัฐวิสาหกิจในประเทศ เพื่อเสริมบทบาทให้ภาคเอกชนมากขึ้นอีกด้วย