จับตาสงครามชิง “ติ๊กต๊อก” เทคโนโลยีในสนามความขัดแย้ง

ติ๊กต๊อกเนื้อหอม
(Photo by Chris DELMAS / AFP)

ความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและจีนกำลังขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วน โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีของจีนที่อาจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแบนของรัฐบาลสหรัฐ หนึ่งในนั้นคือ “ติ๊กต๊อก” (TikTok) แอปพลิเคชั่นสัญชาติจีน บริษัทแม่ “ไบต์แดนซ์” (ByteDance) ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ชาวอเมริกัน ซึ่งกำลังต้องหวาดหวั่นว่าอาจจะต้องถูกแบนไปพร้อมกับบริษัทเทคโนโลยีอื่นของจีนไปด้วย

แต่เมื่อ “วอลมาร์ต” (Walmart) ยักษ์ค้าปลีกของสหรัฐประกาศร่วมเสนอราคาเข้าซื้อกิจการติ๊กต๊อกในสหรัฐก็กลายเป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลกที่ต่างจับตามองว่า การซื้อขายครั้งนี้จะเป็นทางรอดของบริษัทในความขัดแย้งรอบด้านหรือไม่

วอลมาร์ตอยากซื้อติ๊กต๊อก
(Photo by ANDREW CABALLERO-REYNOLDS / AFP)

ทำไมวอลมาร์ตโดดซื้อติ๊กต๊อก ?

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา “วอลมาร์ต” บริษัทเจ้าของค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐที่ดำเนินกิจการมากว่า 58 ปี ได้ประกาศแผนร่วมมือกับ “ไมโครซอฟท์” (Microsoft) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อเมริกัน ในการเสนอราคาซื้อกิจการแอปพลิเคชั่น “ติ๊กต๊อก” ในสหรัฐ โดยนักวิเคราะห์มองว่า การที่ “วอลมาร์ต” ให้ความสนใจเข้าซื้อกิจการติ๊กต๊อก เป็นผลโดยตรงมาจากตลาดอีคอมเมิร์ซที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และยังพุ่งสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้ผู้คนไม่นิยมออกนอกบ้าน และหันมาสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

“คิตตี้ ฟ็อก” (Kitty Fok) กรรมการผู้จัดการบริษัทวิจัยการตลาดไอดีซี (IDC) วิเคราะห์ว่า “สิ่งนี้คือความบันเทิงที่มาพร้อมกับการช็อปปิ้ง ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่โตมโหฬารมาก”

เห็นได้ชัดในประเทศจีน ซึ่งติ๊กต๊อกให้บริการในชื่อ “เตาอิน” (Douyin) เป็นหนึ่งในหลายแอปพลิเคชั่นที่เข้าถึงตลาดอีคอมเมิร์ซขนาดยักษ์ โดยผู้ใช้งานสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ทันทีหลังจากที่รับชมวิดีโอโฆษณาสินค้าสั้น ๆ นอกจากนี้แอปพลิเคชั่นยังมีช่องทางสำหรับผู้จำหน่ายให้สามารถสตรีมสดขายสินค้า พร้อมทั้งช่องทางสั่งซื้อและมอบส่วนลดพิเศษเฉพาะผู้ซื้อผ่านแอปนี้ได้ด้วย

ข้อมูลของบริษัทวิจัยการตลาดอีมาร์เก็ตเตอร์ (eMarketer) ระบุว่า ความนิยมสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ ผลักดันให้ “โซเชียลคอมเมิร์ซ” ของจีนมีมูลค่าสูงถึง 186,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 สูงกว่ามูลค่าในสหรัฐถึง 10 เท่า และยังคาดว่า ตลาดโซเชียลคอมเมิร์ซของจีนยังจะโตขึ้นอีก 30% แตะระดับ 242,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้

“ติ๊กต๊อก” สปริงบอร์ดของวอลมาร์ต

แน่นอนว่า “วอลมาร์ต” ยักษ์ค้าปลีกเก่าแก่ ตระหนักถึงศักยภาพในการเติบโตของช่องทางการตลาดของโซเชียลคอมเมิร์ซในสหรัฐอเมริกา โดยระหว่างการแถลงข่าวร่วมเสนอราคาซื้อกิจการติ๊กต๊อก วอลมาร์ตระบุว่าบริษัทให้ความสนใจในการผสานการค้าออนไลน์และการโฆษณาในตลาดใหม่ ๆ ซึ่งติ๊กต๊อกจะเป็นช่องทางที่สนับสนุนให้วอลมาร์ตสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น

ปัจจุบันติ๊กต๊อกมีผู้ใช้งานในสหรัฐราว 100 ล้านคน จากผู้ใช้งานประมาณ 690 ล้านคนทั่วโลก โดยผู้ใช้งานราว 70% เป็นผู้ที่มีอายุระหว่าง 16-24 ปี ตามข้อมูลของบริษัทวิจัยการตลาดอาร์ทรี (R3) ขณะที่ปัจจุบันบัญชีของวอลมาร์ตในแอปพลิเคชั่นติ๊กต๊อกยังมีผู้ติดตามเพียง 1.8 ล้านคนเท่านั้น

“ไมเคิล เบเคอร์” นักวิเคราะห์อาวุโสของบริษัทเพื่อการลงทุน ดีเอ เดวิดสัน (DA Davidson) ระบุว่า การเข้าซื้อกิจการติ๊กต๊อกจะช่วยให้วอลมาร์ตสามารถแข่งขันกับคู่แข่งอีคอมเมิร์ซอย่าง “อเมซอน” (Amazon) ได้ดีขึ้น นอกจากนั้น “วอลมาร์ตยังเป็นที่น่าสนใจมากขึ้นในฐานะมาร์เก็ตเพลซและแพลตฟอร์มโฆษณาจากผู้จำหน่ายสินค้าบุคคลที่ 3”

ขณะเดียวกัน ความร่วมมือกับ “ไมโครซอฟท์” ซึ่งมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดกับอเมซอนในธุรกิจคลาวด์ ยังจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับวอลมาร์ต เนื่องจากไมโครซอฟท์จะเข้ามาช่วยดูแลด้านเทคนิคทั้งในการให้บริการด้านโซเชียลมีเดียของติ๊กต๊อก และการถ่ายโอนบัญชีผู้ใช้จากต่างประเทศเข้ามาจัดเก็บไว้ในสหรัฐ ช่วยสร้างความไว้วางใจให้กับผู้ใช้งานและรัฐบาลสหรัฐที่ไม่มองว่าแอปพลิเคชั่นนี้เป็นภัยคุกคามอีกต่อไป

จีนสกัดแผนซื้อติ๊กต๊อก

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดรัฐบาลจีนได้แก้ไขกฎ “ควบคุมการขายเทคโนโลยี” แก่ผู้ซื้อต่างชาติ โดยครอบคลุมการจำหน่ายเทคโนโลยีประมวลผลข้อมูล การจดจำเสียงและข้อความ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนเปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบครั้งนี้มีขึ้นเพื่อจัดระเบียบการส่งออกเทคโนโลยีอย่างเป็นทางการและเพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ

แม้ว่ารัฐบาลจีนจะไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงไปที่บริษัทไบต์แดนซ์ หรือแอปพลิเคชั่นติ๊กต๊อกโดยตรง แต่การแก้ไขกฎครั้งนี้จะส่งผลให้การขายกิจการของติ๊กต๊อกในสหรัฐจะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลจีนก่อน ซึ่งไบต์แดนซ์เปิดเผยว่า บริษัทได้รับทราบถึงกฎใหม่แล้ว และจะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

“อนูปาม แชนเดอ” ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายประจำมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ระบุว่า “การเปลี่ยนแปลงกฎควบคุมการขายเทคโนโลยีของจีนครั้งนี้ เป็นหนทางหนึ่งของประเทศที่จะได้ประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว” ซึ่งอาจเปลี่ยนติ๊กต๊อกจากเครื่องมือในการกดดันจีนของรัฐบาลสหรัฐ กลายเป็นอำนาจต่อรองของรัฐบาลจีนไปในที่สุด