สตาร์ตอัพ VS แชโบล ศึกดีลิเวอรี่ “เกาหลีใต้”

ดีลิเวอรี่เกาหลีใต้

การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จัดส่งถึงบ้านหรือบริการ “ดีลิเวอรี่” กลายเป็นเรื่องปกติในวิถีชีวิตของชาวเกาหลีใต้ หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้คนหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกที่พักอาศัย ที่ทำให้ตลาดดีลิเวอรี่ของเกาหลีใต้เติบโตอย่างรวดเร็ว และบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ต่างหันมาสนใจธุรกิจดีลิเวอรี่ จากเดิมที่ผู้ให้บริการส่วนใหญ่เป็นบริษัทสตาร์ตอัพ จนกลายเป็นสงครามชิงส่วนแบ่งการตลาดที่น่าจับตาในเกาหลีใต้ขณะนี้

นิกเกอิเอเชียนรีวิวรายงานว่า ที่ผ่านมาตลาดดีลิเวอรี่ของเกาหลีใต้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้กระตุ้นให้ตลาดขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ข้อมูลของทางการเกาหลีใต้ระบุว่า จากการสำรวจผู้ค้าปลีกออนไลน์ 13 ราย พบว่ายอดขายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13.4% ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2019

โดยผู้ค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ของเกาหลีใต้อย่าง “อีมาร์ต”  (E-Mart) ในเครือของ “เอสเอสจีดอตคอม” (SSG.COM) ยังคงมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 โดยมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 618,800 ล้านวอน หรือ 61% จากปีก่อนหน้า

นอกจากนั้นยังมีบริษัทสตาร์ตอัพอีกหลายรายที่ครองส่วนแบ่งในตลาดดีลิเวอรี่ เพราะบริษัทสตาร์ตอัพเหล่านี้เป็นกลุ่มที่บุกเบิกธุรกิจดีลิเวอรี่ในเกาหลีใต้อย่าง “คูปัง” (Coupang) สตาร์ตอัพอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ที่ระดมทุนผ่านวิชั่นฟันด์ของ “ซอฟต์แบงก์”  ซึ่งปีที่ผ่านมามียอดขายสูงถึง 7.2 ล้านล้านวอน และ “มาร์เก็ต เคอร์ลี” (Market Kurly) ที่มีรายได้ถึง 428,900 ล้านวอน มีการพัฒนาบริการดีลิเวอรี่เพื่อตอบโจทย์การจัดส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว

โดยการขยายตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซในเกาหลีใต้อย่างก้าวกระโดด ได้ดึงดูดให้บริษัทยักษ์หันมาสนใจและกระโดดเข้ามาร่วมชิงส่วนแบ่งตลาดดีลิเวอรี่มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาณาจักรธุรกิจยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้หรือที่เรียกว่า “แชโบล” (chaebol) ที่เริ่มเข้ามาแข่งขันชิงพื้นที่ในตลาดดีลิเวอรี่จากสตาร์ตอัพอย่างดุเดือด

“ล็อตเต้” แชโบลอันดับที่ 5 ของเกาหลีใต้ก็ได้เปิดบริการดีลิเวอรี่เป็นครั้งแรก เมื่อเม.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ “ฮุนได ดีพาร์ตเมนต์สโตร์” ก็เปิดให้บริการจัดส่งสินค้าออนไลน์

และเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา “เนเวอร์ คอร์ปอเรชั่น” บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแอป “ไลน์”  ก็ประกาศขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซร่วมกับยักษ์ค้าปลีกอีก 3 ราย ได้แก่ โฮมพลัส, จีเอส เฟรช มอลล์  และเอชเอ็น ฮานาโร มาร์ต

ทั้งนี้ การชิงส่วนแบ่งการตลาดท่ามกลางภาวะวิกฤตไวรัสในครั้งนี้ บริษัทสตาร์ตอัพมีความได้เปรียบจากการดำเนินธุรกิจดีลิเวอรี่มาก่อน มีการพัฒนาระบบการจัดส่งที่ครอบคลุมและรวดเร็วเช่นที่คูปังมี “ร็อกเก็ต ดีลิเวอรี เซ็นเตอร์ส” ศูนย์กลางกระจายสินค้าที่รวดเร็วมากถึง 168 แห่งทั่วเกาหลีใต้

ทั้งยังใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ประเมินความต้องการสินค้าของลูกค้าในพื้นที่ต่าง ๆ ล่วงหน้า เพื่อจัดเตรียมสินค้าให้พร้อมสำหรับการจัดส่งได้ทันที

ขณะที่ “มาร์เก็ต เคอร์ลี” ที่เน้นจำหน่ายของชำ เบเกอรี่ และของหวาน ก็พัฒนาระบบคลังสินค้าและขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ (cold chain) เต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2015 สำหรับการจัดส่งสินค้าที่ทำสดใหม่ตามคำสั่งซื้ออย่างรวดเร็วก่อนเช้าวันถัดไป

“พัก ยอง-แด” นักวิเคราะห์จาก “ฮานา ไฟแนนเชียล อินเวสเมนต์” ระบุว่า บริษัทแชโบลที่กระโดดเข้ามา  แม้จะยังไม่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบโลจิสติกส์ของตนเอง  แต่มีความได้เปรียบจากฐานลูกค้าจำนวนมาก และเงินสดมหาศาล  ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเนเวอร์สามารถเจาะตลาดอีคอมเมิร์ซด้วยฐานลูกค้าที่มีอยู่กว่า 40 ล้านคน โดยใช้กลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าด้วยโปรโมชั่นแคชแบ็กและส่วนลดต่าง ๆ ในระดับที่สตาร์ตอัพไม่สามารถทำได้

“อี ซึง-ฮุน” นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ไอบีเค อินเวสเมนต์แอนด์ซีเคียวริตีส์ ระบุว่า บริษัทแม่ไลน์อาจมีเป้าหมายไปไกลถึงการขยายบริการดีลิเวอรี่ในระดับภูมิภาค “เราเชื่อว่าบริษัทสามารถเติบโตได้ในฐานะแพลตฟอร์มระดับโลก ที่ครอบคลุมทั้งเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อรวมการจัดการกับไลน์โดยสมบูรณ์”