บริษัทมะกันเมินคำขู่ ‘ทรัมป์’ ผลสำรวจชี้ 92% ไม่ย้ายหนีจีน

บริษัทมะกันเมินย้ายกลับ
AFP PHOTO / WANG ZHAO (Photo by WANG ZHAO / AFP)
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

ถึงแม้ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” จะส่งเสียงขู่มาเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง ให้บริษัทอเมริกันที่ดำเนินธุรกิจในจีนต้องย้ายออกจากจีนและกลับมาดำเนินธุรกิจในสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างงานและรายได้ให้กับชาวอเมริกัน แต่ดูเหมือนว่าบริษัทอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ได้เอาใจใส่คำขู่นั้น เพราะความต้องการของทรัมป์ขัดกับหลักธรรมชาติของการทำธุรกิจ ที่จะต้องมีกำไร-ขาดทุนเป็นตัวตั้ง และมีแรงผลักดันทางการเมืองนำหน้า

ผลสำรวจประจำปีล่าสุดของหอการค้าอเมริกันในเซี่ยงไฮ้ล่าสุด ที่ทำการสำรวจบริษัทสหรัฐในจีน พบว่า 92.1% ของสมาชิกที่ตอบแบบสอบถามระบุว่า ไม่มีแผนจะย้ายออกจากจีน ส่วนบริษัทที่มีแผนจะย้ายออกนั้น ในจำนวนนี้มีเพียง 4.3% ที่ตอบว่าจะย้ายเพียงบางส่วนกลับอเมริกา ที่เหลือย้ายไปที่อื่นที่ไม่ใช่อเมริกา โดยสถานที่ยอดนิยมคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“เคอร์ กิบส์” ประธานหอการค้าอเมริกันในเซี่ยงไฮ้ บอกว่า ผลการสำรวจบ่งบอกว่าบริษัทอเมริกันเหล่านี้ไม่ได้มาลงทุนในจีนระยะสั้นเพียงเพื่อแสวงหาประโยชน์ด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำ แต่เป็นการลงทุนระยะยาวมากกว่า เพราะ 85% ของบริษัทเหล่านี้ดำเนินธุรกิจในจีนมาแล้วอย่างน้อย 10 ปีหรือมากกว่า มีเพียง 4.6% เท่านั้นที่อยู่มาไม่ถึง 5 ปี

ด้วยเหตุนั้นบริษัทอเมริกันส่วนใหญ่จึงมีความมั่นคงไม่คลอนแคลนเกี่ยวกับความเป็นจริงในการทำงานและลงทุนในจีน จึงแทบจะไม่หวั่นไหวต่อความผันผวนระยะสั้นของตลาดและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

นอกจากนี้ยังมีข้อเท็จจริงที่ว่าจีนเป็นประเทศแรกที่สามารถก้าวออกจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 ส่วนประเทศอื่น ๆ ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก จึงน่าดึงดูดน้อยกว่าจีน

“บริษัทที่เป็นสมาชิกของเรามีเสถียรภาพพอสมควร ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาอยู่มาเป็นเวลานานและหยั่งรากลึกแล้ว ซึ่งก็เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงรู้สึกไม่สบายใจต่อเสียงเรียกร้องให้ (2 ประเทศ) แยกตัวออกจากกัน สิ่งที่เรากังวลมากที่สุดคือความพยายามที่จะเข้าใจให้ได้ว่าเป้าหมายของทำเนียบขาวคืออะไร และเรากำลังมุ่งหน้าไปทางไหน”

ความกังวลที่ประธานหอการค้าอเมริกันในเซี่ยงไฮ้กล่าวถึงข้างต้นก็คือ เป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลสหรัฐจะสั่งแบนไม่ให้บริษัทอเมริกันในจีนใช้แอปพลิเคชั่น “วีแชต” เพราะขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ามาตรการที่รัฐบาลสหรัฐออกมาจะรวมถึงธุรกิจสหรัฐในจีนด้วยหรือไม่ หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์มีคำสั่งแบนการใช้วีแชตในสหรัฐภายใน 45 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 20 กันยายนนี้ “ถ้าหากธุรกิจอเมริกันในจีนจะต้องหยุดใช้วีแชต ก็จะเกิดความเสียหายในระดับทำลายล้างทีเดียว” ประธานหอการค้าอเมริกันระบุ

ผลการสำรวจยังพบว่า บริษัทอเมริกันเห็นว่าปัญหาใหญ่ที่สุดที่พวกเขากังวลก็คือความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ปัญหาลักษณะนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่อันดับ 1 ของภาคธุรกิจนับตั้งแต่มีการสำรวจมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของพวกเขาในจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย 1 ใน 3 ตอบว่าปัญหาดังกล่าวทำให้บริษัทอเมริกันมีความยากลำบากที่จะรักษาพนักงานชาวจีนให้ทำงานด้วย

โดยเฉพาะในภาคการศึกษาและฝึกหัด ซึ่งบริษัทอเมริกัน 55.5% ที่อยู่ในธุรกิจนี้ ยอมรับว่ากำลังมีปัญหาเรื่องพนักงาน ส่วนบริษัทที่อยู่ในธุรกิจคลังสินค้าและกระจายสินค้า 50% ตอบว่ากำลังประสบปัญหาขาดแคลนพนักงานเช่นกัน

แม้จะมีปัญหา แต่ผลตอบแทนก็ออกมาดี นั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัทอเมริกันส่วนใหญ่ยังชอบที่จะทำธุรกิจในจีน เพราะท่ามกลางความตึงเครียดของสงครามการค้า กลับปรากฏว่าบริษัทอเมริกัน 78.2% มีกำไรเพิ่มขึ้น 32.5% ในปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ถึงแม้ทั่วโลกจะประสบวิกฤตเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติมก็ตาม

“บริษัทสมาชิกรู้สึกกังวล แต่ก็อุทิศตนให้กับตลาดที่น่าดึงดูด มีขนาดใหญ่และกำลังเติบโต เราตระหนักเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคงของชาติ และหวังว่าทั้ง 2 ประเทศจะสามารถหาจุดสมดุลความสัมพันธ์ ช่วง 3 ปีครึ่งที่ผ่านมาสมาชิกหลายบริษัทรู้สึกเจ็บปวดและต้องการจะเห็นกลยุทธ์ระยะยาว”

ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวในเชิงหาเสียงในวันแรงงานที่ผ่านมาว่า รัฐบาลภายใต้การนำของเขา จะทำให้อเมริกากลายเป็นมหาอำนาจด้านการผลิตของโลกและจะเลิกพึ่งพาจีนโดยสมบูรณ์ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการแยกตัวออกจากจีนหรือขึ้นภาษีมาก ๆ อย่างที่เขาได้ทำมาแล้ว

การเล่นงานจีนทางการค้า ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ยังดำเนินต่อไปไม่สิ้นสุด ล่าสุดอดีตเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว เปิดเผยว่า ทำเนียบขาวเตรียมจะบล็อกการนำเข้าเสื้อผ้าบางส่วนจากจีนที่สหรัฐเชื่อว่าผลิตจากฝ้ายในซินเจียงที่มีการบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์อย่างผิดกฎหมาย หากเป็นเช่นนั้นจะกระทบต่อบริษัทอเมริกันที่นำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอจากจีน ขณะเดียวกันจะเป็นบูมเมอแรงย้อนกลับมาเล่นงานผู้ปลูกฝ้ายในสหรัฐ หากว่าจีนใช้มาตรการตอบโต้แบบเดียวกัน

มาตรการดังกล่าวของสหรัฐจะไม่เรียกว่าการแบนเสียทีเดียว แต่เรียกว่ามาตรการ WRO กล่าวคือหากสินค้านั้นถูกตัดสินจากเจ้าหน้าที่รัฐว่ามีการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ก็จะถูกบังคับให้ส่งออกกลับไปอีกครั้งหรือทำลาย ทั้งนี้ ปีที่แล้วสหรัฐนำเข้าสิ่งทอจากจีนประมาณ 4-5 หมื่นล้านดอลลาร์

ประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย บังกลาเทศ และศรีลังกา ล้วนแต่ใช้ผ้าฝ้ายจากซินเจียงในการผลิตเสื้อผ้า ขณะที่กลุ่มนักเคลื่อนไหว กล่าวหาว่าอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอาดิดาส ลาคอสต์ ไนกี้ ซาร่า H&M ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานในซินเจียง