รัสเซียอัดแคมเปญ “คืนเงิน” ปลุกท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัว 1.5 เท่า

รัสเซียอัดเงินฟื้นท่องเที่ยว

รัฐบาลรัสเซียเดินหน้านโยบาย “คืนเงิน” หลังกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของชาวรัสเซียเพิ่มขึ้น 1.5 เท่าในช่วงครึ่งหลังของฤดูร้อน

วันที่ 12 กันยายน 2563 สำนักข่าวต่างประเทศของรัสเซีย (TASS) รายงานว่า ธนาคารวีทีบี (VTB bank) ธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับสองของรัสเซีย เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งหลังของฤดูร้อน ( มิ.ย.-ส.ค.) ชาวรัสเซียเริ่มมาใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า จากช่วงครึ่งแรกของฤดูร้อนที่การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในประเทศ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2019 ถึง 1.5 เท่า

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัว คือ นโยบายคืนเงิน (cashback) ของรัฐบาล ให้ผู้ที่ใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศ ที่เปิดตัวไปช่วงเดือนสิงหาคมปีนี้

รายงานข่าวระบุว่า ตั้งแต่กลางเดือน ก.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา ชาวรัสเซียมีการใช้จ่ายเกี่ยวกับการจองที่พัก เช่ารถ ร้านอาหาร และความบันเทิงตามสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของประเทศมูลค่ารวมประมาณ 9.5 พันล้านรูเบิล (125.19 ล้านดอลลาร์) ซึ่งขยับขึ้นมามีสถิติใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

โดยนักท่องเที่ยวใช้จ่ายเงินมากกว่า 1.75 พันล้านรูเบิล (23.06 ล้านดอลลาร์) ในการจองที่พัก ซึ่งสูงกว่าช่วง 6 สัปดาห์แรกของฤดูร้อนถึง 21% ขณะที่การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวประเภทความบันเทิงมีมูลค่าเกือบ 440 ล้านรูเบิล (5.8 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งถือว่าสูงกว่าช่วงครึ่งแรกของฤดูร้อนถึง 2.2 เท่า

ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขนส่งและร้านอาหาร มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับช่วงต้นของฤดูกาล 33% และ 11% ตามลำดับ

ธนาคารวีทีบียังระบุด้วยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในปีนี้มีอัตราเติบโตอย่างรวดเร็วในเมืองคราสโนดาร์ (Krasnodar) โดยมูลค่าการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว ร้านอาหาร และความบันเทิงในพื้นที่เพิ่มขึ้น 46% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา

ขณะที่ความนิยมในการท่องเที่ยวช่วงฤดูร้อนในเมืองหลวงอย่างกรุงมอสโกลดลง 3 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา


อย่างไรก็ตาม มอสโกยังคงเป็นผู้นำในแง่มีผู้ใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวสูงที่สุด มูลค่ารวม 9.66 พันล้านรูเบิล (127.3 ล้านดอลลาร์) ขณะที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กอยู่ในอันดับที่สอง 1.7 พันล้านรูเบิล (22.4 ล้านดอลลาร์) และตามติดมาด้วยเมืองคราสโนดาร์ 1.36 พันล้านรูเบิล (17.92 ล้านดอลลาร์)