เฟดกดดอกเบี้ยต่ำ 0% นานอีก3 ปี พยุงเศรษฐกิจสหรัฐ

เจอโรม พาวเวล
เจอโรม พาวเวล

ธนาคารกลางสหรัฐประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายใกล้ระดับ 0% ต่อเนื่องไปถึงปี 2023 จนกว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่กรอบเป้าหมาย 2% เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ

นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) กล่าวในการแถลงนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2020 ว่า ธนาคารกลางจะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐไว้ที่ระดับใกล้ 0% (0.0-0.25%)จนกว่าภาวะเงินเฟ้อจะกลับไปสู่ระดับ 2% ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกลับขึ้นมาจากช่วงไตรมาสที่ 2 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19

นายเจอโรม กล่าวอีกว่า แม้ว่าไวรัสโควิด-19 จะสร้างความยากลำบากต่อเศรษฐกิจ แต่เรากำลังเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่กับไวรัสผ่านมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างการใส่มาสก์ และการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้จากช่วงไตรมาส 2 ที่เป็นช่วงที่แย่ที่สุดของเศรษฐกิจสหรัฐนับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

อย่างไรก็ดี คาดว่าการฟื้นตัวดังกล่าวจะเป็นไปอย่างช้า และยังต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งธนาคารกลางได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินมาตรการต่างๆ เพิ่มเติม รวมไปถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางจะเข้าซื้อตราสารหนี้เพิ่มเติม

ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐปรับคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2020 โดยคาดว่าจะหดตัวลง -3.7% ลดลงจากระดับ -6.5% ที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือน มิ.ย. 2020

ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.4% เมื่อเดือน ส.ค. คาดว่าจะปรับลดลงไปอยู่ที่ 7.6% ได้ภายในปลายปีนี้ หลังพบว่าคนตกงานกว่าครึ่งหนึ่งเริ่มกลับเข้ามาในตลาดแรงงานแล้ว ส่วนการบริโภคภาคเอกชนพบว่าฟื้นตัวเช่นกันที่ 75% ส่งผลให้ธนาคารกลางคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ในช่วงที่ผ่านมา

ด้าน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC)  ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ระดับใกล้ 0% ยาวไปจนถึงปี 2022 ขณะที่ 4 ใน 7 กรรมการมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งในปี 2023  พร้อมปรับนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อเป้าหมายทางการเงินของเฟด

ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมนโยบายการเงินครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 3 พ.ย. ภายหลังการแถลงนโยบายการคงอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้เกิดข้อถกเถียงในวงผู้กำหนดนโยบายว่า การดำเนินโยบายดังกล่าวอาจเป็นการอุ้มเศรษฐกิจมากเกินไป ขณะที่อีกฝั่งกลับมองว่าการช่วยเหลือยังไม่เพียงพอ