ปรากฎการณ์ “ล้มละลาย” กับการเปลี่ยนแปลงที่สหรัฐ

(Photo by Angela Weiss / AFP)
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

วิกฤตโควิด-19 ส่งผลต่อกิจการเก่าแก่ในสหรัฐอเมริกาหนักหนาสาหัสมาก ผลักดันให้กิจการอเมริกันขนาดใหญ่ยื่นขอความคุ้มครองตามมาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลายกันเป็นทิวแถว หลายต่อหลายกิจการเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก กระนั้นก็ยังไม่อาจรอดพ้นจากภาวะถดถอยครั้งใหญ่อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดในครั้งนี้

บรูก บราเธอร์ส ห้องเสื้อสูทผู้ชายที่เคยสร้างชื่อเสียงจากการมีคนอย่าง อับราฮัม ลินคอล์น และ จอห์น เอฟ. เคนเนดี เป็น “ขาประจำ” ก็ดี, เฮิรตซ์ กิจการให้บริการเช่ารถที่รู้จักกันทั้งโลก เรื่อยไปจนถึงแคลิฟอร์เนีย พิซซ่า คิตเช่น และ ชัก อี. ชีส คือตัวอย่างที่ดีของกิจการที่จำเป็นต้องล้มละลายไปในทำนองนี้

ปัญหาก็คือ ยิ่งนับวันกิจการที่ล้มละลายในสหรัฐอเมริกาเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงง่าย ๆ

เจฟฟรีส์ วาณิชธนกิจ อเมริกัน เพิ่งเผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับการล้มละลายในสหรัฐอเมริกาออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ สรุปเอาไว้ชัดเจนว่าในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมที่ผ่านมา มีกิจการ “ขนาดใหญ่” โดยวัดจากภาระหนี้ เกิน 500,000 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป ล้มละลายมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2019 ที่ผ่านมาถึง 244 % บางกิจการอย่างเช่น เจซี เพนนีย์ ที่เก่าแก่ถึง 118 ปี ยังมีคนสนใจเข้าซื้อกิจการและอาจสามารถรักษาธุรกิจเอาไว้ได้หลังผ่านกระบวนการปรับโครงสร้าง และอื่น ๆ ตามกฎหมายล้มละลาย

แต่หลายบริษัทไม่ได้โชคดีอย่างนั้น เช่น ห้างสรรพสินค้าลอร์ด แอนด์ เทย์เลอร์ หรือเซ็นจูรี่ 21 คงต้องม้วนเสื่อไปโดยปริยาย บริษัทที่ยื่นขอล้มละลายในสหรัฐกระจายออกไปหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่ เชสอะพีก เอ็นเนอร์ยี กิจการน้ำมันยุคบุกเบิกมาจนถึงกิจการผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือนอย่าง เซอร์ลาเทเบิล และแม้แต่คณะละครสัตว์ ซีก ดู โซ

แน่นอนบางภาคอุตสาหกรรมย่อมได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้มากกว่า และทำให้ต้องล้มละลายกันเป็นจำนวนมาก อย่างเช่น ธุรกิจการบิน ซึ่งระดับการยื่นล้มละลายเพิ่มขึ้นมากถึง 110%เมื่อเทียบกันปีต่อปี

ขณะที่บริษัทในกลุ่มธุรกิจน้ำมันและก๊าซก็ยื่นล้มละลายเพิ่มขึ้นถึง 45 % รวมถึงอัตราการล้มละลายของธุรกิจบันเทิงก็เพิ่มขึ้น 22 %จากการสำรวจวิจัยของเจฟฟรีส์

การล้มละลายเป็นปัญหาในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ยิ่งเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน หรือต่อเนื่องกันเป็นจำนวนมาก ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ใหญ่โตมากขึ้น

ปัญหาที่ว่านี้กำลังเกิดขึ้นจริงในสหรัฐอเมริกา เพราะข้อสังเกตของนักสังเกตการณ์การล้มละลาย และนักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า จำนวนบริษัทที่ยื่นล้มละลายในตอนนี้เป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง สถานการณ์เลวร้ายที่แท้จริงยังมาไม่ถึง

โจเซฟ อะคอสตา ผู้เชี่ยวชาญจากดอร์ซีย์แอนด์วิตนีย์ บริษัทกฎหมายที่เชี่ยวชาญด้านการล้มละลายบอกว่า แม้ว่าตอนนี้ปริมาณกิจการที่ยื่นขอล้มละลายมีเป็นจำนวนมาก แบบต้องทำงานกัน 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด แต่เชื่อว่ายังคงเหลือให้เห็นอยู่อีกเป็นจำนวนมาก

“ปริมาณการล้มละลายยังไม่ถึงระดับสูงสุด ระดับสูงสุดที่ว่านั้นจะมีมาให้เห็นก็ต่อเมื่อรัฐบาลยุติชุดความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบแล้วเท่านั้น” อะคอสตาระบุ

ในขณะที่นักวิเคราะห์อีกส่วนตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ยื่นขอล้มละลายกันสูงมาก ปริมาณการยื่นขอล้มละลายโดยรวมเมื่อเอากิจการขนาดกลางและขนาดเล็กเข้าไปด้วยไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นแต่อย่างใด จำนวนการยื่นขอล้มละลายรวมของปี 2020 ถือว่าลดต่ำลงกว่าเมื่อปีที่แล้ว 14 % ด้วยซ้ำไป

คำอธิบายก็คือ บรรดาบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในสภาพดีกว่ากิจการขนาดใหญ่แต่อย่างใด เพียงแต่พวกเขายังไม่ได้ยื่นขอล้มละลายเท่านั้นเอง

เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กเหล่านี้ยังมีเงินสนับสนุนจากภาครัฐ หรือจากธนาคารใหญ่ อย่างเช่น โครงการเพย์โรลล์ โพรเทกชั่น โปรแกรม (พีพีพี) ช่วยให้ยังสามารถพยุงกิจการของตนเองต่อไปได้

เหตุผลอีกส่วนหนึ่งซึ่งทำให้มีกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กยังทู่ซี้ทำธุรกิจต่อไปในภาวะวิกฤตครั้งนี้ก็คือ กิจการเหล่านี้ไม่มีเงินมากเพียงพอต่อการว่าจ้างทนายหรือบริษัทที่ปรึกษากฎหมายให้ดำเนินการยื่นล้มละลาย

อะคอสตาบอกว่า มีกิจการอเมริกันส่วนหนึ่งซึ่งเมื่อตระหนักถึงเงินที่ต้องใช้เพื่อการนี้ ก็ตัดสินใจเดินหน้ากิจการของตนต่อไป “จนกว่าจะมีใครมายึดทั้งหมดไป” เพราะมีเงินไม่มากพอสำหรับชำระค่าทนาย ให้ทำหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลและจัดการทำแผนฟื้นฟูกิจการทั้งหมดได้

เพียงแต่ก่อนที่จะถึงจุดที่ถูกยึดกิจการก็ขอทำต่อไปเรื่อย ๆ เพราะกิจการเหล่านี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เงินในโครงการพีพีพีไปยื่นขอล้มละลายได้

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ในทันทีที่เงินสนับสนุนจากทางรัฐบาล หรือแม้แต่จากโครงการของเฟด หรือธนาคารกลางของสหรัฐยุติลง เป็นที่เข้าใจได้ว่าปริมาณกิจการที่ขอยื่นล้มละลายในสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล

กรณีเช่นนี้ไม่เพียงสร้างความเสียหายให้กับเจ้าของกิจการนั้น ๆ แต่ยังส่งผลกระทบลามไปยังพนักงาน และส่งผลเสียหายไปให้กับบรรดาผู้ถือหุ้นทั้งหลายอีกด้วย

ผลกระทบที่มีต่อบรรดาธนาคาร ในสหรัฐ รวมทั้งเจพี มอร์แกน เชส, ซิตี้, และแบงก์ออฟอเมริกา เริ่มแสดงออกมาให้เห็นด้วยสภาพกำไรที่หดตัวลงมหาศาลในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ในเวลาเดียวกับที่ธนาคารเหล่านี้จำเป็นต้องกันเงินสำรองไว้จำนวนหนึ่งเพื่อรองรับ “หนี้เสีย” อันเกิดจากการยื่นขอล้มละลายของบริษัทที่กู้เงินจากตนกันแล้ว

ล่าสุดหนี้ที่ส่อเค้าว่าจะเสียของธนาคารเอ็มแอนด์ที และฟิฟท์ เทิร์ด แบนคอร์ป. สูงถึง 14 %ของหนี้ที่ปล่อยกู้ออกไปทั้งหมด ของเวลล์ฟาร์โก, ทรูอิสต์ ไฟแนนเชียล, ยูเอส แบนคอร์ป. และคีย์ คอร์ป. ก็อยู่ที่ระดับสูงถึง 10 เปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกัน

เดียร์เดร โอคอนเนอร์ กรรมการผู้จัดการด้านการฟื้นฟูกิจการของอีพิกให้ความเห็น้ว่า วิกฤตโควิดก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค เราจะยังคงเห็นกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่, พลังงาน, และโทรคมนาคม อาศัยเงื่อนไขในการยื่นขอล้มละลายเพื่อฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้ได้กำไรและแข่งขันได้ในระยะยาว กิจการเหล่านี้จะฟื้นตัวกลับมาในลักษณะที่แตกต่างออกไปจากเดิมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอีกด้วย