‘เฟด’ แช่ ดบ. 0% ยาว 3 ปี ศก.ฟื้นไวกว่าคาด-จีดีพีลบแค่ 3.7%

เฟดแช่ดอกเบี้ย 0%
REUTERS/Kevin Lamarque/File Photo
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน คณะกรรมการมีมติ 8 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบัน คืออยู่ที่ช่วงระหว่าง 0.00-0.25% เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เฟดส่งสัญญาณว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยใกล้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ไปจนถึงปี 2023 จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยับขึ้นไปตามเป้าหมายที่ 2%

เฟดยังส่งสัญญาณว่า สามารถยอมรับอัตราเงินเฟ้อเกิน 2% เล็กน้อยได้ระยะหนึ่ง กล่าวคือถึงแม้เงินเฟ้อจะขยับสูงเกินเป้าหมายไปบ้าง แต่จะไม่เป็นเหตุให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้ เพื่อฟูมฟักเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างมั่นคง ขณะเดียวกัน อัตราการจ้างงานก็ต้องฟื้นตัวในระดับสูงสุดตามเป้าหมาย

“เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด ระบุว่า “สิ่งที่เรากำลังพูดก็คือ อัตราดอกเบี้ยจะยังอยู่ในสภาวะที่เอื้อเป็นอย่างสูงต่อเศรษฐกิจ การที่เราให้สัญญาว่าจะปล่อยให้เงินเฟ้อเกิน 2% ได้เล็กน้อย น่าจะเป็นแถลงการณ์ที่แข็งแกร่งและทรงพลังในการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะนี้การฟื้นตัวมีความคืบหน้าและเร็วกว่าที่คาดไว้ แต่อัตราการฟื้นจะเป็นไปอย่างช้า ๆ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากมาตรการใช้จ่ายของรัฐบาลต่อไปอย่างต่อเนื่อง

เฟดยังได้ปรับคาดการณ์จีดีพีของสหรัฐปีนี้ใหม่ ในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า โดยประเมินว่าตลอดปีนี้จีดีพีจะติดลบน้อยลงที่ -3.7% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบถึง -6.5% ส่วนอัตราว่างงานเมื่อถึงสิ้นปีจะลดลงเหลือ 7.6% จาก 8.4% ในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ เฟดไม่ลืมที่จะย้ำว่าวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่ยังดำเนินอยู่ เป็นอุปสรรคต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงานและเงินเฟ้อในระยะสั้น และสร้างความเสี่ยงค่อนข้างมากต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะกลาง

การให้สัญญาว่าจะตรึงดอกเบี้ยต่ำมากไปอีกอย่างน้อย 3 ปี สะท้อนให้เห็นว่านโยบายของเฟดโน้มไปในทางที่จะทำให้การจ้างงานแข็งแกร่ง ขณะเดียวกันการที่เฟดบอกว่าจะรักษาอัตราการซื้อพันธบัตรรัฐบาลไว้ที่ระดับปัจจุบันคือ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ต่อเดือน เป็นอย่างน้อย เพื่อรับประกันว่านโยบายการเงินจะอยู่ในสภาพส่งเสริมเศรษฐกิจ ก็สะท้อนให้เห็นว่าเฟดได้ปรับแกนสำคัญของนโยบาย จากเพียงแค่รักษาเสถียรภาพตลาดไปเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

“จอห์น ฮิลล์” นักกลยุทธ์อาวุโสของบีเอ็มโอชี้ว่า แถลงการณ์ของเฟดบ่งบอกว่าจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึง 2023 และบางทีอาจเลยไปถึง 2024 “นี่คือมาตรการการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นปรับขึ้น ขณะที่ดอลลาร์ก็จะอ่อนลง” แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคน เช่น เอริก ไวโนแกรด ระบุว่า ถึงแม้ประธานเฟดจะมั่นใจว่าสิ่งที่แถลงออกมาในครั้งนี้จะเป็นสารที่ทรงพลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจ แต่การที่ไม่มีความชัดเจนเรื่อง “ระยะเวลา” ที่เฟดจะยอมให้เงินเฟ้อเกินเป้าหมายนั้น ก็ได้ลดทอนพลังของสารให้รู้สึก dovish น้อยลง

ไวโนแกรดบอกว่า ทุกคนรับรู้ว่าการยอมให้เงินเฟ้อเกินเป้าหมายได้เล็กน้อยในความหมายของเฟดเป็นเรื่องชั่วคราว ไม่ยั่งยืน แต่ตลาดก็ยังอยากทราบอยู่ดีว่า คำว่า “ระยะหนึ่ง” นั้นจะกินเวลานานเท่าใด ดังนั้น เฟดควรสร้างความชัดเจนและกระชับในประเด็นนี้ หากต้องการให้นโยบายและเป้าหมายบรรลุผล

อีกด้านหนึ่งองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ซึ่งเป็นองค์กรของประเทศพัฒนาแล้ว ได้เผยแพร่คาดการณ์เศรษฐกิจโลกล่าสุด โดยชี้ว่าแม้ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 แต่ก็มีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อยนับจากเดือนมิถุนายน ทำให้โออีซีดีคาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะติดลบเพียง -4.5% จากเดิมที่คาดว่าติดลบ -6% ส่วนปีหน้าจะขยายตัวได้ประมาณ 5%

พร้อมกับได้ปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีของจีนและสหรัฐอเมริกาในปีนี้ขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่าจีนจะเป็นประเทศเดียวในกลุ่มจี 20 ที่จีดีพีจะขยายตัว 1.8% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ -2.6% ส่วนสหรัฐอเมริกาจะติดลบน้อยลงเหลือ -3.8% ดีขึ้นอย่างมากจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่เชื่อว่าน่าจะติดลบ -7.3% ส่วนกลุ่มประเทศยุโรปที่ใช้เงินยูโร คาดว่าจะติดลบ -7.9% ส่วนอังกฤษมีแนวโน้มจะติดลบ -10.1%

ขณะเดียวกันได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีของประเทศกำลังพัฒนา เช่น เม็กซิโก อาร์เจนตินา อินเดีย แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย เป็นต้น โดยอินเดียและเม็กซิโกน่าจะติดลบ -10.2% อย่างไรก็ตาม โออีซีดียอมรับว่า ภาพรวมของอนาคตยังไม่นิ่ง เพราะมีความไม่แน่นอนสูงมาก ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมีปัญหาการระบาดรอบใหม่เป็นระยะ รวมทั้งขึ้นอยู่กับการสนับสนุนเศรษฐกิจของบรรดาผู้วางนโยบายในประเทศต่าง ๆ ที่กำลังดำเนินอยู่

โออีซีดียังหวังจะเห็นนักการเมืองสหรัฐตกลงกันได้เกี่ยวกับแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ มูลค่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ในฤดูใบไม้ร่วงนี้ แม้ว่าในขณะนี้การเจรจาระหว่างพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลถึงทางตัน และการอนุมัติคงทำได้ยากขึ้น เพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีใกล้เข้ามา ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวหาว่า พรรคเดโมแครตไร้หัวใจและเล่นเกมเตะถ่วง เพราะไม่อยากให้รัฐบาลส่งเงินช่วยเหลือตรงถึงมือประชาชนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19