อนาคตอุตฯน้ำมันดิบ “มืดมน” ท่ามกลาง “วิกฤตดีมานด์” ดิ่งเหว

(Photo by Robyn Beck / AFP)
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ประเมินความต้องการน้ำมันล่าสุด เผยแพร่ออกมาเมื่อ 16 กันยายนนี้ ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ในปี 2020 นี้ ความต้องการน้ำมันทั่วโลกจะลดลงมาอยู่ที่เพียงแค่ 91.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากอัตราเฉลี่ยของปีที่ผ่านมา มากถึง 8.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ถือเป็นการปรับลดการคาดการณ์ความต้องการน้ำมันเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน

ก่อนหน้านั้นไม่นาน องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (โอเปก) ปรับลดประมาณการความต้องการน้ำมันในปี 2020 ลงอีก 400,000 บาร์เรลต่อวัน ทำให้ความต้องการน้ำมันรวมทั่วโลกในปีนี้ ลดลงเหลือเพียง 90.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน

แน่นอนว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือเหตุปัจจัยสำคัญของการที่โลกบริโภคน้ำมันลดลงอย่างฮวบฮาบและฉับพลันดังกล่าว จากสารพัดมาตรการที่ทั่วโลกนำมาใช้เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด ที่ส่งผลให้การเดินทางระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเพื่อการทำงานหรือการท่องเที่ยวทรุดลงฉับพลัน

ในการประชุมทางไกลของการประชุมปิโตรเลียมแห่งเอเชีย-แปซิฟิก (เอพีพีเอซี) ผู้บริหารในแวดวงอุตสาหกรรมน้ำมันหลายคนให้ความเห็นตรงกันว่า สถานการณ์

ดีมานด์น้ำมันในยามนี้ถือเป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดในหลายยุคที่ผ่านมา

แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าและดูร้ายแรงกว่าก็คือ อุตสาหกรรมน้ำมันดิบไม่สามารถคาดการณ์ให้ “พอจะแม่นยำได้” ว่า ความต้องการน้ำมันในอนาคตจะเป็นไปในทิศทางไหน เพราะการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลกหนนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อใด ตอนไหนนั่นเอง

“วัคซีน” เป็นความหวังสำคัญที่สุด แต่ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะบังเกิดขึ้นได้ ความเสี่ยงต่อการเกิดการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 หรือระลอก 3 ขึ้นมา ก็ยังคุกคามประมาณการความต้องการน้ำมัน ไม่ว่าจะของใคร ค่ายไหนอยู่ตลอดเวลา

ระหว่างที่ความต้องการใช้น้ำมันทรุดตัวเพราะการแพร่ระบาดทั่วโลกที่ผ่านมา คลังน้ำมันสำรองของทุกประเทศก็เต็มปรี่ไปด้วยน้ำมันราคาถูก

ในที่ประชุมของคนในแวดวงอุตฯน้ำมันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้บริหารหลายคนพากันคาดการณ์ไปต่าง ๆ นานา

คนที่คาดการณ์ในทางบวกมากที่สุด คือ “รัสเซลล์ ฮาร์ดี” ซีอีโอของวิโทล เทรดเดอร์น้ำมันรายสำคัญระดับโลกที่คาดหมายว่า ถึงปลายปีนี้ประเทศต่าง ๆ จะเริ่มดึงน้ำมันจากคลังสำรองน้ำมันออกมาใช้

ฮาร์ดีแสดงความเชื่อมั่นว่า ความต้องการน้ำมันของภาคขนส่ง ยกเว้นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน น่าจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับก่อนหน้าเกิดการแพร่ระบาดได้ในราวไตรมาส 4 ปีหน้า

เหตุผลของฮาร์ดีก็คือ ตลาดจะต้องค่อย ๆ ดึงเอาน้ำมันสำรองส่วนเกินออกมาใช้ก่อน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการดึงน้ำมันสำรองออกมาใช้เพียง 300 ล้านบาร์เรล จากระดับน้ำมันสำรองสูงสุดเท่านั้น

หมายความว่า ภายใต้การคาดการณ์ในทางที่ดีที่สุด กว่าอุตสาหกรรมน้ำมันจะกลับคืนมาสู่ความคึกคักอีกครั้งหนึ่งก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี

คำถามสำคัญถัดมาก็คือ แล้วในระยะยาวทิศทางของความต้องการน้ำมันจะเป็นอย่างไร ? ในประเด็นนี้ ผู้สันทัดกรณีในแวดวงน้ำมันด้วยกันเอง แตกความคิดออกเป็น 2 ทาง

สรุปง่าย ๆ ก็คือ ค่ายหนึ่งมองเห็นว่า อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติผ่านจุดที่เป็นที่ต้องการสูงสุดมาแล้ว และกำลังจะเสื่อมถอยลง เมื่อทั้งโลกหันไปหาพลังงานทางเลือกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ และเป็นพลังงานสะอาดมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะต้องการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน

อีกค่ายหนึ่งยังคงมองเห็นความสำคัญของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ที่ความต้องการน้ำมันจะยังคงขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามการขยายตัวของประชากรโลก โดยเฉพาะผู้คนหลายร้อยล้านคนที่ต้องการผลักดันตัวเองขึ้นเป็นไปชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่บริโภคน้ำมันสูงสุด

นักวิชาการและคนที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงพลังงานเริ่มรู้สึกมากขึ้นว่า โลกกำลังก้าวสู่ยุคของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอีกครั้งหนึ่ง สถานการณ์เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับพลังงานถ่านหิน ที่เคยเป็นพลังงาน “ราคาถูก” และ “เชื่อถือได้”

มาในยุคหนึ่ง จนไม่พบเห็นการมาถึงของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

ไคลด์ รัสเซลล์ คอลัมนิสต์ของรอยเตอร์สเตือนไว้ว่า ผู้บริหารในแวดวงน้ำมันในยามนี้กำลังทำผิดด้วยการเดินซ้ำรอยคนในแวดวงถ่านหินในอดีต เพราะสุดท้ายแล้วก็ต้องดิ้นรนและเจ็บปวดเมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริง ๆ เหมือนที่ถ่านหินเคยสูญเสียความได้เปรียบด้วยสารพัดสาเหตุ

อุตสาหกรรมถ่านหินมองข้ามการมาถึงของก๊าซธรรมชาติ ที่ไม่เพียงสะอาดกว่า ในที่สุดก็ราคาถูกกว่า

ก็เป็นเช่นเดียวกับบรรดาผู้คนในวงการน้ำมันที่ยังคาดหมายว่า ความต้องการน้ำมันจะกลับมาขยายตัวอีกครั้งอย่างรวดเร็ว

เท่ากับเป็นการปรามาสผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่น้อยทั่วโลก ที่ลงทุนไปแล้วรวมเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อปรับเปลี่ยนรถยนต์ที่เคยใช้พลังงานน้ำมันไปเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้า

เป็นการคาดการณ์บนความไม่เชื่อถือว่า ในที่สุดแล้วพลังงานทางเลือกที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้นั้น นับวันจะยิ่งราคาถูกลงเรื่อย ๆ จัดเก็บเพื่อให้บริการได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมเรื่อย ๆ และไม่เชื่อว่าภาษีคาร์บอนจะไม่แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง เมื่อผิดพลาดมาก ก็จะยิ่งเจ็บปวดมาก เป็นธรรมดา