เชื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปีหน้าบูม คล้ายช่วงหลังสงครามโลก 2

REUTERS/Andrew Kelly
ชีพจรเศรษฐกิจโลก นงนุช สิงหเดชะ

วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลกที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ถูกกล่าวขานกันว่าเป็นวิกฤตหนักที่สุดในรอบ 100 ปี บางคนก็ว่าหลายร้อยปี ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตเล็กที่สุดและมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น จะมีพลานุภาพที่สามารถทำลายล้างเศรษฐกิจได้อย่างรุนแรงไม่ต่างจากสงครามโลก ทั้งที่การแพทย์ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างมาก

ความล้มเหลวในการควบคุมโรค โดยเฉพาะในอเมริกาและทวีปยุโรป ตลอดจนการติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นในระยะหลังของอินเดีย ประเทศที่มีประชากรมากอันดับ 2 ของโลก ยิ่งสร้างความวิตกกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกว่าจะกินเวลายาวนานยืดเยื้อไปถึงเมื่อใด และจะฟื้นกลับมาได้ระดับไหน เพราะยาวิเศษที่ตั้งความหวังรอกันมากคือ วัคซีน ก็ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

ท่ามกลางความวิตกกังวลนี้ หากมาฟังการวิเคราะห์ในมุมของผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินเชิงพฤติกรรมและประวัติศาสตร์ อย่าง “มอร์แกน เฮาเซล” ก็น่าจะใจชื้นได้บ้าง เพราะเฮาเซลเชื่อว่าเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลกอย่างอเมริกา จะกลับมาบูมได้ภายในปีหน้า แบบเดียวกับที่เคยทำได้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

เฮาเซล ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของกองทุน Collaborative Fund ด้วย ชี้ว่า สิ่งหนึ่งที่ตนคิดว่าหลายคนมองข้ามหรือให้ความสำคัญน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ก็คือ “ปีหน้าอาจเป็นปีที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของเศรษฐกิจสหรัฐ” แม้จะฟังดูน่าขันเมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่สหรัฐต้องรับมือในขณะนี้ แต่การประเมินของตนไม่ได้เกิดจากการนึกคิดเอาเอง แต่ดูจากประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นกับสภาพเศรษฐกิจช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ระบุว่า ช่วงกลางทศวรรษ 1940 เมื่อสหรัฐอเมริกาต้องเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 กิจกรรมเศรษฐกิจถูกชัตดาวน์ รัฐบาลต้องทุ่มสรรพกำลังทำสงคราม ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าต่าง ๆ ของประชาชนถูกอั้นเอาไว้อย่างมหาศาล และเมื่อสงครามสิ้นสุดลง ชาวอเมริกันก็พากันทะลักออกมาใช้จ่าย ประกอบกับรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชื่อว่า “GI Bill” ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่บรรดาทหารและผู้ออกไปร่วมรบ ปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐในทศวรรษ 1950 และ 1960 บูมขึ้นมา

เฮาเซลบอกว่า สภาวการณ์ของสหรัฐในขณะนี้ก็คล้ายกัน กล่าวคือวิกฤตไวรัสทำให้เศรษฐกิจเสียหายอย่างหนัก เพราะธุรกิจต่าง ๆ ถูกบีบให้ปิดกิจการชั่วคราวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดรัฐบาลจึงต้องออกมาตรการโอบอุ้มครั้งใหญ่ทั้งมาตรการการเงินและการคลัง หากเทียบกับการทำสงคราม ก็เสมือนว่ามีการระดมยิงศัตรูแบบไม่หยุดด้วยอาวุธหนัก นี่คือพื้นฐานที่จะส่งให้เศรษฐกิจสหรัฐดีดกลับครั้งใหญ่ในปีหน้า

“ลองคิดถึงความต้องการของประชาชนที่อั้นเอาไว้ ของผู้ที่กระตือรือร้นจะออกจากบ้านไปกินอาหารที่ภัตตาคาร หรือไปเที่ยวพักผ่อน ผนวกกับวงเงินและมาตรการกระตุ้นที่มาก อย่างไม่น่าเชื่อจากทั้งธนาคารกลางและรัฐบาล ไหนจะวัคซีนที่อาจจะนำมาใช้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เมื่อรวมปัจจัยเหล่านี้เข้าด้วยกัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ก็อาจเป็นแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2”

สำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นที่ต้องเผชิญความผันผวนอย่างรุนแรง เฮาเซลชี้แนะว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนักลงทุน ไม่ว่าจะมืออาชีพหรือมือสมัครเล่น คือต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ความผันผวนอันยาวนานของตลาด และตระหนักว่าเมื่อมีบางสิ่งเกิดขึ้น พอเวลาผ่านไปก็จะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา

“ช่วง 100 ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยแล้วตลาดหุ้นจะปรับลง 10% อย่างน้อยทุก 1 ปี และลดลง 20 หรือ 30% อย่างน้อยทุก 2 หรือ 3 ปี ดังนั้นเมื่อเราเจอสถานการณ์แบบนี้ก็จะไม่รู้สึกว่า เศรษฐกิจเกิดความผิดปกติหรือว่าแตกสลาย แต่ต้องเข้าใจว่านั่นคือราคาที่เราต้องจ่ายเพื่อจะได้รับผลตอบแทนในระยะยาว”