“ซูกะโนมิกส์” ภาคต่อ ศก.ญี่ปุ่น ปฏิวัติ “สังคมสูงวัย” สู่ “สังคมออนไลน์”

Photo by Kazuhiro NOGI / AFP

การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นของ “โยชิฮิเดะ ซูกะ” อาจไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดี เนื่องจากญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ถดถอยท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า “เวลายากลำบากอาจนำมาสู่โอกาส” และอาจเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจ

เจแปนไทมส์รายงานว่า นโยบายสำคัญของ “ซูกะ” ที่ประกาศชูธงคือการ “ดิจิไทเซชั่น” ระบบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐสู่ระบบดิจิทัล โดยซูกะระบุว่า “ถึงเวลาสิ้นสุดยุควัฒนธรรมเอกสารที่เป็นกระดาษ และเข้าสู่ยุคดิจิทัลเหมือนประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ สักที”

รายงานข่าวระบุว่าเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลมีโครงการแจกเงิน 1 แสนเยน เยียวยาประชาชนช่วงโควิด-19 ระบาด แต่ประสบปัญหาความล่าช้าที่แม้เทศบาลต่าง ๆ จะเปิดรับคำขอทางออนไลน์ แต่กลับเป็นการเพิ่มงานเพราะต้องพรินต์เอกสารออกมาตรวจเช็กข้อผิดพลาด เนื่องจากแต่ละหน่วยงานรัฐใช้ระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีความปลอดภัยที่ไม่เหมือนกัน ไม่สามารถรองรับการทำงานกันได้

ดังนั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ครั้งแรกเมื่อ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา นโยบายแรกที่ซูกะสั่งการคือให้เร่งร่างกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานดิจิทัล ให้พร้อมเริ่มงานในปีหน้า เพื่อผลักดันให้ระบบราชการและในสังคมของญี่ปุ่นขับเคลื่อนด้วยระบบดิจิทัล

การจัดตั้งหน่วยงานดิจิทัลถือเป็นการปฏิรูปที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ของญี่ปุ่น

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวว่า ช่วงโควิด-19 ระบาด สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของญี่ปุ่นที่ต้องปรับเข้าสู่ยุคดิจิทัล

โดยเฉพาะทำให้ระบบออนไลน์ของรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น ทำงานร่วมกันได้ รวมถึงส่งเสริมการใช้ “my number” บัตรดิจิทัลข้อมูลเลขประกันสังคมของชาวญี่ปุ่น ใช้ยืนยันตัวตนเพื่อให้ชาวญี่ปุ่นสามารถทำธุรกรรมกับภาครัฐผ่านทางสมาร์ทโฟนได้

นอกจากนี้ที่ผ่านมา “ซูกะ” ยังสั่งการให้กระทรวงสื่อสารฯหาแนวทางปรับลดค่าบริการมือถือในญี่ปุ่น ซึ่งมีราคาแพงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยมีเป้าหมายจะให้ลดลงถึง 40% เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการใช้บริการมากขึ้น

รอยเตอร์สรายงานว่า ข้อมูลจากคณะกรรมการการปฏิรูปของญี่ปุ่นได้ศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ว่า หากรัฐบาลญี่ปุ่นไม่มีการขับเคลื่อนสู่ยุคดิจิทัลอย่างจริงจัง รัฐบาลอาจสูญเสียชั่วโมงทำงานถึง 323 ล้านชั่วโมง รวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งยังมีผลต่อภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำเทคโนโลยีของโลก

แม้จะเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลก แต่ข้อมูลสถาบันวิจัยข้อมูล ไอ เอ็ม ดี รายงานว่า ความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัลของญี่ปุ่น อยู่ลำดับที่ 23 จาก 63 ประเทศ ตามหลังประเทศอย่างสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และจีน

เศรษฐกิจภาคต่อจาก “อาเบะโนมิกส์” ของญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไร ซูกะจะสามารถปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมแอนะล็อกที่คุ้นเคยเป็นดิจิทัลได้หรือไม่ และจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตท่ามกลางความท้าทายของประชากรผู้สูงอายุที่มากขึ้น และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้หรือไม่ ต้องติดตามเศรษฐกิจภาคต่อไปของ “ซูกะโนมิกส์”