โควิด-เบร็กซิต วิกฤตซ้อนวิกฤตที่อังกฤษ

เบร็กซิทกับโควิด
(Photo by Oli SCARFF / AFP)
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ในความรู้สึกของนักธุรกิจชาวอังกฤษหลายคน บาดแผลที่ได้รับจากวิกฤตการณ์หนี้ในระดับโลกเมื่อปี 2008 ยังไม่ตกสะเก็ดดี ก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจ เผชิญกับความไม่แน่นอนครั้งใหญ่จากการผละออกมาจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือเบร็กซิต

แต่พอถึงตอนที่ เบร็กซิต กำลังชัดเจนว่าออกหัวหรือออกก้อย จะมีข้อตกลงเป็นชิ้นเป็นอันหรือจะเป็นแยกออกจากกันชนิด “ไปตายเอาดาบหน้า” ในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ วิกฤตอย่างใหม่ก็ถล่มโครมเข้ามาอย่างคาดไม่ถึง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจของอังกฤษทรุดลงหนักหนาสาหัสที่สุดในบรรดา 7 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำทั้งหลายในทรรศนะนักเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะซีกที่วิจารณ์รัฐบาลมาตลอดยืนยันว่า เศรษฐกิจของอังกฤษไม่เคยฟื้นกลับคืนสู่สถานะที่เคยเป็นก่อนหน้าวิกฤตหนี้

การขยายตัวเชิงผลิตภาพ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นชนิดขาดไม่ได้ในการพัฒนามาตรฐานการครองชีพในระยะยาว กลับชะงักงันอยู่กับที่ การลงทุนทางธุรกิจและการขยายตัวของค่าจ้างแรงงาน ร่วงลงมาอยู่ในระดับต่ำที่สุด อ่อนแอที่สุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้วด้วยกัน

ความปั่นป่วนทางการเมืองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อันเนื่องจากความขัดแย้ง เรื่องรูปแบบและวิธีการหลุดพ้นสมาชิกภาพอียู ดึงความสนใจออกจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไปไม่น้อย จนมีน้อยคนมากที่แสดงความกังขาออกมา เมื่ออังกฤษถูกแทนที่ด้วย อินเดีย ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ลำดับที่ 5 ของโลก

หลายคนคาดการณ์ว่า สถานการณ์เสื่อมทรามลงเช่นนี้จะยังคงดำเนินต่อเนื่องต่อไป ถึงปี 2030 เมื่อไหร่ เศรษฐกิจ อังกฤษจะหลุดจาก 10 อันดับแรกของโลก

โรคโควิด-19 แพร่ระบาดมาถึงอังกฤษในจังหวะเวลาที่แย่ที่สุด การระบาดและความพยายามเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศอย่างไม่ปรานี

กิจกรรมทางเศรษฐกิจของอังกฤษลดลงราว 1 ใน 5 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หดตัวลงเกือบ 20% แซงหน้าบรรดาชาติสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ทั้งหลาย ที่เศรษฐกิจหดตัวอยู่ในระดับ 10%

การประกาศล็อกดาวน์เป็นเวลายาวนานกับการที่ประเทศต้องพึ่งพากลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงเป็นหลัก ตั้งแต่ค้าปลีก, การท่องเที่ยว, และภาคอุตสาหกรรมบริการ เมื่อบวกกับการแพร่ระบาดในอังกฤษเป็นการระบาดที่รุนแรงที่สุดประเทศหนึ่งในบรรดาประเทศภาคพื้นยุโรปด้วยกัน ทำให้สถานการณ์โดยรวมเลวร้ายลงเกินคาดหมาย

ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ เงินช่วยเหลือทั้งในรูปให้เปล่า และเงินกู้จากรัฐบาลกำลังจะสิ้นสุดลง สิ่งที่จะหลงเหลือ คือบรรดาบริษัทธุรกิจที่แบกภาระหนี้สิน กับกระแสการลอยแพคนงานระลอกแล้วระลอกเล่า

หากรวมสถานการณ์ดังกล่าวเข้ากับความเสี่ยงอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดใหญ่ในระลอกที่สอง หรือ “โนดีล-เบร็กซิต” ที่ลักลั่น โกลาหล หรือแม้แต่การตัดสินใจ “ขึ้นภาษี” เพื่อบริหารจัดการหนี้ภาครัฐมหาศาลที่ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์

ผลที่ได้ก็คือ โอกาสฟื้นตัวกลับมาทันทีที่การระบาดสิ้นสุดลง เป็นไปได้น้อยมาก เศรษฐกิจประเทศเสี่ยงต่อการทรุดตัวในระยะยาว สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตทางการเมืองระลอกใหม่ซ้ำซ้อนขึ้นมาอีกครั้ง

นักวิชาการบางคนถึงกับคาดหมายว่า จีดีพีของอังกฤษไม่มีทางฟื้นตัวกลับคืนสู่ระดับก่อนหน้าการแพร่ระบาด จนกว่าจะถึงปี 2022 ช้ากว่าประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย รวมทั้งล้าหลังอีกหลายประเทศในยุโรปแน่นอน

ในสถานการณ์เช่นนี้ นโยบายเศรษฐกิจแบบ “ปะผุ” โปะโน่นปิดนี่ ไปเรื่อย ๆ หรือการสร้างวาทกรรมหรูหราทั้งหลาย ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาแล้ว

ข้อเสนอแนะจากผู้สันทัดกรณีทั้งหลายก็คือ รัฐบาลนายกรัฐมนตรี “บอริส จอห์นสัน” จำเป็นต้องใช้โอกาสนี้กำหนดแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว มองไปข้างหน้า ไม่ใช่นโยบายการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสั้น ๆ เหมือนอย่างหลายรัฐบาลในหลายปีที่ผ่านมาเช่น การสร้างสภาวะแวดล้อมทางด้านธุรกิจใหม่ พลิกฟื้นศักยภาพทางด้านเทคโนโลยี ลงทุนเพิ่มมากขึ้นในด้านการสร้างทักษะแรงงานใหม่ ๆ เป็นต้น

เป้าหมายต้องเป็นการขยับขยายให้เศรษฐกิจของประเทศสู่การขยายตัวอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงเพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์เฉพาะหน้าให้หลุดพ้นจากภาวะถดถอยจากการแพร่ระบาดเท่านั้น


เมื่อวิกฤตร้ายแรงเกิดขึ้นซ้ำซ้อน ความ พยายามในการฟื้นฟูประเทศในระยะยาวก็ต้องเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเช่นเดียวกัน