สหรัฐเดินเกม “สงครามเทค” ดับฝันเซมิคอนดักเตอร์จีน

(Photo by STR / AFP) / China OUT

“เทคโนโลยี” เป็นอาวุธสำคัญที่สหรัฐอเมริกาใช้กดดันรัฐบาลจีนมาอย่างต่อเนื่องในความขัดแย้ง 2 ชาติที่ยืดเยื้อยาวนานมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา สร้างความเสียหายให้กับอุตฯเทคโนโลยีของจีน และอาจทำให้ความฝันของรัฐบาลจีนที่จะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีโลกต้องสะดุด

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า วันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐได้ประกาศขึ้นบัญชีดำบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเชอริ่ง อินเทอเนชั่นแนล คอร์ปอร์เรชั่น (SMIC) ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของจีน โดยอ้างว่าบริษัทมีส่วนในการสนับสนุนเทคโนโลยีทางการทหารให้กับกองทัพจีน

โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐกำหนดให้บริษัทอเมริกันที่รับจัดหาและส่งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้กับเอสเอ็มไอซีจะต้องยื่นขอรับใบอนุญาตก่อน โดยทางการสหรัฐจะพิจารณาควบคุมสินค้าเทคโนโลยีส่งออกบางรายการ เพื่อหลีกเลี่ยง “ความเสี่ยงที่ไม่อาจยอมรับได้” แม้ว่าเอสเอ็มไอซีจะยืนยันว่า บริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับกองทัพจีน

การใช้เทคโนโลยีเพื่อกดดันจีนของรัฐบาลสหรัฐนี้มีมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง “สงครามการค้า” เริ่มจากการสั่งห้ามหน่วยงานของสหรัฐทำธุรกิจร่วมกับ “หัวเว่ย” ยักษ์ใหญ่ของจีน ก่อนที่จะมีการแบนแอปพลิเคชั่นจีนจำนวนมากรวมถึง “ติ๊กต็อก” ที่ถูกห้ามการให้บริการในสหรัฐ แต่ต่อมาในวันที่ 28 ก.ย. ศาลของรัฐบาลกลางสหรัฐได้มีคำวินิจฉัยให้ระงับคำสั่งแบนดังกล่าวเป็นการชั่วคราว

“อริสา หลิว” นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจไต้หวัน ระบุว่า “การขึ้นบัญชีดำเอสเอ็มไอซีจะส่งผลกระทบต่อแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศของจีนอย่างรุนแรง สหรัฐกำลังใช้กลยุทธ์ปิดกั้นบริษัทที่มีความสำคัญ เพื่อสร้างอุปสรรคต่อกระบวนการผลิตไฮเทคของจีน”

โดยเอสเอ็มไอซีถือเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของจีน และมีบทบาทอย่างมากในแผนการของรัฐบาลในการผลักดันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศให้สามารถลดการพึ่งพิงซัพพลายเออร์ต่างชาติ และสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก ขณะที่จีนต้องนำเข้าชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์อย่างมหาศาล โดยปี 2019 มีการนำเข้าสูงถึง 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นิกเคอิเอเชียนรีวิวรายงานว่า ขณะนี้เอสเอ็มไอซีมียอดสั่งซื้อชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์จากบริษัทสหรัฐหลายรายอย่าง แอพพลายด์ แมททีเรียลส์ ,แลม รีเสิร์ช ซึ่งหากบริษัทไม่สามารถเข้าถึงชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์อเมริกันเหล่านี้ อาจทำให้ความสามารถทางเทคโนโลยีของเอสเอ็มไอซีล้าหลังไปถึง 10 ปี แม้ว่าเอสเอ็มไอซีจะพยายามสร้างสายการผลิตเทคโนโลยีในจีน แต่ยังไม่สามารถเทียบเคียงผลิตภัณฑ์ของสหรัฐได้

นอกจากนี้ มาตรการแบนของสหรัฐครั้งนี้ยังจะส่งผลกระทบต่อ “หัวเว่ย” ในฐานะลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของเอสเอ็มไอซี ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงชิ้นส่วนที่จำเป็นต่อการผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์

สำหรับสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ได้อีกต่อไป แม้ว่าผลกระทบจากมาตรการแบนครั้งนี้อาจยังไม่แสดให้เห็นชัดเจนโดยเร็ว เนื่องจากเอสเอ็มไอซียังคงมีชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อสายการผลิตกักตุนอยู่จำนวนหนึ่ง แต่หากบริษัทไม่สามารถหาซัพพลายเออร์ใหม่ได้จนการผลิตต้องหยุดชะงักลง ก็อาจทำให้ฝันการเป็นเจ้าเทคโนโลยีของจีนไม่อาจถึงเป้าหมายได้ในเร็ววัน