Fact กับ “วาทกรรม” การเมือง อเมริกา-จีน “หย่า” กันได้จริงหรือ

REUTERS/Jason Lee/Illustration/File Photo
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

นับตั้งแต่ขึ้นเป็นผู้นำสหรัฐเมื่อเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้ย้ำแล้วย้ำอีกถึงความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะ “หย่าขาด” จากจีนในแง่ของเศรษฐกิจ-การค้า และยิ่งใกล้วันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งต่อไปในวันที่ 3 พฤศจิกายน ทรัมป์ยิ่งเพิ่มความเข้มข้นในการเล่นงานจีนเพื่อสร้างความพอใจให้กับฐานเสียง

ความเคลื่อนไหวของทรัมป์อย่างต่อเนื่องเพื่อเล่นงานจีน ไล่จากการขึ้นภาษีสินค้า เล่นงานบริษัทโทรคมนาคมอย่างหัวเว่ย และล่าสุดเตะตัดขาแอปพลิเคชั่นยอดนิยมของจีน TikTok ยิ่งเพิ่มความตึงเครียดด้านความสัมพันธ์ของสองประเทศ แต่ผู้ที่เครียดกว่าก็คือนักลงทุน เนื่องจากเป็นสัญญาณว่าทั้งสองประเทศมีแนวโน้มจะถอยห่างออกจากกันมากขึ้นเรื่อย ๆ สถานการณ์เช่นนี้

ทำให้บริษัทต่าง ๆ มีความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมข้อมูลโดยซีเอ็นบีซี มีข้อมูลหลายอย่างบ่งชี้ว่าการหย่าขาดระหว่างสองประเทศค่อนข้างจะทำได้ยาก อย่างน้อยก็ตอนนี้ เพราะช่วง 10 ปีที่ผ่านมาทั้งสองประเทศมีความเชื่อมโยงกันมาก

โดยเฉพาะความเชื่อมโยงทางการค้า ซึ่งถือเป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดในความสัมพันธ์ของทั้งสอง ทั้งนี้จะเห็นว่าถึงแม้สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีสินค้าจีนเมื่อ 2 ปีที่แล้วเป็นต้นมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มของความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ แต่ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐกลับพบว่ามูลค่าการค้าของสองฝ่ายเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 6.368 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งนับว่าสูงทีเดียว

หากแยกเป็นการค้าสินค้า (goods) และบริการ พบว่าในแง่ของสินค้า สหรัฐเป็นฝ่ายนำเข้าสินค้าจากจีนมากกว่าส่งออกไปจีน แต่ในแง่ของภาคบริการจีนกลับเป็นฝ่ายซื้อจากสหรัฐมากกว่าที่สหรัฐซื้อจากจีน และจะเห็นว่าขณะที่ปากกำลังประกาศว่าจะหย่าขาดจากจีน แต่ทรัมป์กลับผลักดันให้จีนซื้อสินค้าเกษตรจากอเมริกามากขึ้น เพื่อสร้างความพอใจให้กับเกษตรกรผู้เป็นฐานเสียงของเขา

ในด้านของความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ทั้งสองฝ่ายเชื่อมโยงกันมากขึ้นในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ความหมายของห่วงโซ่อุปทานก็คือเครือข่ายที่ซับซ้อนของบริษัทต่าง ๆ ที่ทำงานด้วยกันเพื่อป้อนวัตถุดิบ, ชิ้นส่วนขั้นกลาง ตลอดจนความเชี่ยวชาญให้แก่กัน เพื่อจะสามารถผลิตออกมาเป็นสินค้าหรือบริการขั้นสุดท้าย

ข้อมูลล่าสุดเท่าที่พอหากันได้และมีผู้จัดทำไว้ ก็คือข้อมูลจากองค์การความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) เมื่อปี 2015 ซึ่งชี้ให้เห็นว่า สินค้าและบริการทั้งหมดที่บริโภคกัน

ในสหรัฐ พึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากต่างประเทศ 12.2% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้จีนเป็นต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในการทำหน้าที่ห่วงโซ่อุปทานแก่สหรัฐ และน่าสังเกตว่าภาคการผลิตในสหรัฐ พึ่งพาวัตถุดิบขั้นกลางหรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายจากจีนมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะบริษัทผลิตสิ่งทอ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กขั้นต้นและเครื่องจักร

ส่วนจีนพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากต่างประเทศ 14.2% หรือประมาณ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ สำหรับสินค้าและบริการทั้งหมดที่บริโภคกันภายในประเทศ โดยในจำนวนนี้สหรัฐเป็นต่างชาติรายใหญ่สุดที่ทำหน้าที่ห่วงโซ่อุปทานให้กับจีน ขณะเดียวกันภาคบริการของจีนกลับพึ่งพาอเมริกามากที่สุดในแง่ของห่วงโซ่อุปทาน ตรงกันข้ามกับอเมริกาซึ่งพึ่งพาจีนในภาคการผลิตมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ในแง่การไหลเวียนของเงินลงทุน (investment flows) เห็นได้ชัดว่าความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดทำให้เงินลงทุนของสองฝ่ายลดลง โดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มูลค่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและดีลธุรกิจร่วมทุนของสองฝ่ายลดลงอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มที่เห็นชัดก็คือจีนเข้ามาซื้อสินทรัพย์ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐน้อยลง

ขณะเดียวกันการลงทุนของสหรัฐในจีนค่อนข้างยืดหยุ่นกว่า ไม่ค่อยเกิดความเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะผลสำรวจพบว่าบริษัทอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ต้องการย้ายออกจากจีนตามแรงบีบของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ต้องการให้บริษัทสหรัฐย้ายกลับมาดำเนินธุรกิจในประเทศเพื่อจ้างงานชาวอเมริกัน เนื่องจากมองเห็นศักยภาพในระยะยาวของจีนเพราะเป็นตลาดบริโภคขนาดใหญ่