“แรงงานข้ามชาติ” ทั่วโลกลดฮวบ ฟาดหางเศรษฐกิจประเทศร่ำรวย

(Photo by JOE KLAMAR / AFP)

“แรงงานต่างชาติ” นับเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศร่ำรวยทั่วโลก ที่ต่างประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน แต่การโหมกระแสต่อต้านแรงงานต่างชาติในหลายประเทศ รวมถึงสถานการณ์ของโควิด-19 นำมาซึ่งการปิดพรมแดนระหว่างประเทศ ที่ทำให้แนวโน้มแรงงานต่างชาติที่ลดลง กำลังกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก

นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานข้อมูล “องค์การสหประชาชาติ” (ยูเอ็น) ว่า ในปี 2019 ประชากรในประเทศที่มีรายได้สูงมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2000 ราว 7% หรือราว 82 ล้านคน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นแรงงานที่อพยพมาจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มากถึง 35 ล้านคน

โดยที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ได้เข้าไปรองรับความต้องการแรงงานในประเทศพัฒนาแล้ว ที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทำให้แรงงานเหล่านี้มีส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ โดยข้อมูลของธนาคารโลกชี้ว่า สัดส่วนจีดีพีต่อหัว ของประเทศพัฒนาแล้ว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนแรงงานข้ามชาติที่มากขึ้นด้วย

กระแสการต่อต้านแรงงานต่างชาติในหลายประเทศยักษ์ใหญ่ทั่วโลก โดยเฉพาะ “สหรัฐอเมริกา” ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกกฎระเบียบใหม่กีดกันแรงงานต่างชาติหลายต่อหลายครั้ง เพื่อรักษาตำแหน่งงานให้ชาวอเมริกัน และเหตุผลหนึ่งในการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของ “สหราชอาณาจักร” คือต้องการออกจากข้อตกลงการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีภายในสหภาพ เพื่อรักษาอำนาจอธิปไตยในการควบคุมการย้ายถิ่นฐานภายในประเทศของอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซ้ำเติมสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากมาตรการปิดกั้นพรมแดนเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส โดยองค์การสหประชาชาติคาดว่า หากจำนวนแรงงานต่างชาติในประเทศพัฒนาแล้วหายไป จะทำให้ประชากรในประเทศเหล่านั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2030 จำนวนประชากรในประเทศพัฒนาแล้วจะต่ำกว่าการคาดการณ์เดิมถึง 24 ล้านคน และประชากรเกือบ 1,300 ล้านคนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในปัจจุบันจะลดลงเหลือราว 1,200 ล้านคนภายในปี 2050

แนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งเริ่มเห็นแล้วในกรณีของ “สหรัฐ” ที่การกีดกันแรงงานข้ามชาติ

โดยเฉพาะการหายไปของแรงงานในภาคการเกษตร จากกฎระเบียบใหม่ที่ควบคุมโควตาการมีแรงงานต่างชาติในเซ็กเตอร์ดังกล่าวไม่เกิน 4% ของแรงงานที่จำเป็นทั้งหมด

“สหพันธ์สำนักฟาร์มอเมริกัน” ระบุว่า ภาคการเกษตรของสหรัฐต้องแบกรับต้นทุนสูงขึ้นจากการจ้างแรงงานในประเทศที่มีค่าแรงสูงกว่า ทำให้ค่าจ้างแรงงานมีสัดส่วนถึง 35-48% ของต้นทุนการผลิต ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำนวนมากต้องล้มละลาย โดยตั้งแต่ปีการเพาะปลูกในเดือน ก.ค. 2019 มีผู้ประกอบการเกษตรยื่นล้มละลายแล้ว 580 ราย เพิ่มขึ้น 8% จากปี 2018

“สเตน โวลล์เซต” ศาสตราจารย์ด้านสุขภาพประจำมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ชี้ให้เห็นความเสี่ยงของสถานการณ์ด้านประชากรศาสตร์ทั่วโลก โดยระบุว่าอัตราการเจริญพันธุ์ในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกจะลดลงต่ำกว่าระดับ 2.1 ซึ่งหมายถึงจำนวนประชากรจะลดลงทั่วโลก และแนวทางที่จะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ สามารถรักษาขนาดของประชากรและการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ได้คือนโยบายการย้ายถิ่นฐานเสรี สอดคล้องกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า การมีแรงงานที่หลากหลายจะทำให้เศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้น