เส้นทางวิบาก ‘โรงภาพยนตร์’ เหยื่อพิษโควิด-19 รายต่อไป

เส้นทางวิบากโรงหนัง

หลังจากที่โรงภาพยนตร์ในสหรัฐกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเดือน ก.ค. ล่าสุดก็มีข่าวร้ายจาก “ซีนีเวิลด์” และบริษัทในเครือ “รีกัล ซีนีม่า” กลุ่มธุรกิจโรงหนังยักษ์ใหญ่อันดับสองของโลก ได้ประกาศปิดโรงหนังทั้งหมด 663 แห่งอีกครั้ง รวมถึงโรงภาพยนตร์ “ซีนีมาร์ก” และ “โอดิออน” ของสหรัฐและสหราชอาณาจักรก็ลดเวลาเปิดทำการลงเรื่อย ๆ 

ประเด็นหลักที่ทำให้โรงหนังต้องปิดตัวคือ “ไม่มีภาพยนตร์ฉาย” หลังจากที่มีความหวังว่าหนังเรื่อง “เจมส์ บอนด์” ภาคใหม่ No Time to Die ที่เดิมมีแผนจะเข้าฉายเดือน พ.ย.นี้ ได้ประกาศเลื่อนฉายไป เม.ย.ปีหน้าและอีกหลายเรื่อง เช่น “ดูน” ที่ผลิตโดยบริษัทวอร์เนอร์บราเธอร์ส “แบล็ก วิโดว์” และ “เวสต์ ไซด์ สตอรี่” ก็ได้เลื่อนฉายจากปีนี้เช่นกัน

นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า ปัจจัยที่ทำให้ค่ายหนังเลื่อนการฉายออกไป เพราะผู้คนยังกลัวการเข้าโรงหนัง ขณะที่มาตรการป้องกันโควิด-19 ทำให้จุคนได้น้อย ทำให้รายได้ลดลงมาก หนังเรื่อง “เทเน็ต” (Tenet) ที่เข้าโรงเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา หนึ่งในภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดปีนี้ แต่ก็ไม่สามารถทำรายได้เหมือนกับช่วงที่ภาพยนตร์กลับมาฉายปกติได้

รายงานข่าวระบุว่า สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โรงหนังสหรัฐเปิดทำการ 2,931 แห่ง คิดเป็น 57% ของทั้งประเทศ ทำรายได้อยู่ที่ 12 ล้านดอลลาร์ ซึ่งต่างกับช่วงวันหยุดปีที่แล้วที่สามารถทำเงินได้ถึง 150 ล้านดอลลาร์  

“จอห์น ฟิเทียน” ประธานสมาคมโรงภาพยนตร์กล่าวว่า ถ้าค่ายหนังยังคงเลื่อนการฉายต่อไป ถึงตอนนั้นจะไม่มีโรงให้ฉายหนังแล้ว และค่ายหนังควรคำนึงว่ายังอยากให้มีโรงหนังที่ฉายภาพยนตร์ของตัวเองอีกหรือไม่ซึ่งถ้าอุตสาหกรรมไม่ได้รับการช่วยเหลือ โรงภาพยนตร์ขนาดเล็กและกลาง 69% จะต้องปิดถาวรหรือยื่นล้มละลาย นอกจากนี้จอห์นระบุว่า จากที่ทางการสั่งปิดโรงภาพยนตร์ในรัฐนิวยอร์กเป็นปัจจัยหลัก ส่งผลกระทบอย่างมาก เพราะเป็นแหล่งรายได้สำคัญและเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้หนังหลายเรื่องเลื่อนฉาย

“มุกกี้ กรายดินเกอร์” ซีอีโอของซีนีเวิลด์ เขียนจดหมายถึง “แอนดรูว์ โคโม่” ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก เรียกร้องให้เปลี่ยนการจัดประเภทการควบคุมสถานที่ เนื่องจากโรงหนังถูกจัดอยู่ในประเภทกลุ่มคอนเสิร์ตและสวนสนุกพร้อมกับยืนยันว่า โรงภาพยนตร์มีระบบกรองอากาศ การจัดระเบียบที่นั่ง และการบังคับใส่แมสก์ที่ปฏิบัติได้ดีกว่า และยังไม่เคยมีหลักฐานว่ามีผู้ที่ติดเชื้อในโรงหนัง จึงเรียกร้องให้มีมาตรการเหมือนกับสถานที่จัดงานในร่มอื่น ๆ 

อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ยังคงต้องดิ้นรนในภาวะวิกฤต ซึ่งหากไม่มีหนังฉาย ไม่มีรายได้ และไม่มีการสนับสนุน หนังอาจจะไม่มีโรงภาพยนตร์ให้ฉายอีกต่อไป