วิถีใหม่ทำงาน “แบงก์ญี่ปุ่น” เลือกได้ 3-4 วันต่อสัปดาห์

ญี่ปุ่นลดวันทำงาน
ภาพโดย Sofia Terzoni จาก Pixabay

“ญี่ปุ่น” ถือเป็นชาติที่ประชากรทำงานหนักเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานจนกลายเป็นค่านิยม

กระทั่งกลายเป็นปัญหาสังคมญี่ปุ่นในยุคที่ผ่านมาว่า “ทำงานหนัก” จนเป็นสาเหตุการฆ่าตัวตาย

แต่หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้ทำให้วิถีการทำงานของคนญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

บริษัทต่าง ๆ มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการทำงานที่ผ่อนปรนมากขึ้น ให้พนักงานทำงานได้อย่างอิสระมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการเงินหรือสายการบิน เหตุผลสำคัญอาจเป็นเพราะ new normal จากโควิด-19 ทำให้บริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องลดพนักงาน ทำให้หลายๆบริษัทเลือกวิธีการลดชั่วโมงทำงานให้แทนการปลดพนักงาน

เจแปนทูเดย์รายงานว่า “ทัตสึฟุมิ ซากาอิ” ซีอีโอ “มิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป” กลุ่มธุรกิจการเงินใหญ่อันดับ 3 ของญี่ปุ่น ได้เสนอทางเลือกให้พนักงานในเครือกว่า 45,000 คน สามารถเลือกได้ว่าจะทำงาน 3 วันต่อสัปดาห์ หรือ 4 วันต่อสัปดาห์ก็ได้ โดยจะมีผลตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้เป็นต้นไป

โฆษกหญิงของมิซูโฮฯระบุว่า นโยบายดังกล่าวเพื่อช่วยให้พนักงานทำงานได้อย่างอิสระ ซึ่งภายใต้ระบบการทำงานใหม่ พนักงานที่เลือกทำงานแบบ 3 วันต่อสัปดาห์ได้ค่าตอบแทน 60% ของเงินเดือน ผู้ที่เลือกทำงาน 4 วันจะได้ 80% ของเงินเดือน แต่พนักงานยังสามารถเลือกทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ตามเดิมได้

ทั้งนี้มิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป พยายามสร้างวัฒนธรรมในการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเริ่มให้พนักงานทำงานจากบ้านตั้งแต่ เม.ย.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม โควิด-19 อาจเป็นตัวเร่งเท่านั้น เพราะปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ของญี่ปุ่นก็ปรับลดพนักงานอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้รายงานข่าวระบุว่าบริษัท ซูมิโตโม มิตซุย ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ก็เริ่มให้พนักงานทำงาน 3 วันต่อสัปดาห์เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาเช่นกันขณะที่ “ออลนิปปอนแอร์เวย์ส” (ANA)

สายการบินยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรง แจ้งกับสหภาพแรงงานว่า มีแผนอนุญาตให้พนักงานกว่า 15,000 คนของสายการบิน

สามารถรับงานพาร์ตไทม์บริษัทอื่นได้ หากไม่ตรงกับเวลาทำงานของบริษัท เพื่อให้มีรายได้เสริมเข้ามาชดเชยรายได้ที่หายไป เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้เที่ยวบินระหว่างประเทศลดลงอย่างมาก จนทำให้สายการบินต้องปรับลดเงินเดือนและโบนัสของพนักงาน ขณะที่โรคระบาดนี้ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะสิ้นสุดในเวลาอันใกล้ดังนั้นบริษัทจึงเปิดทางให้พนักงานรับงาน “พาร์ตไทม์” บริษัทต่าง ๆ ได้ เพื่อเป็นช่องทางหารายได้เสริม หลังจากก่อนหน้านี้บริษัทได้อนุญาตให้พนักงานเอาเวลาไปหาทำกิจการส่วนตัวเท่านั้น เช่น การเป็นติวเตอร์สอนหนังสือได้

นี่เป็นตัวอย่างโมเดลการปรับตัวของบริษัทญี่ปุ่นที่สะท้อนถึงการจ้างงานที่กำลังเปลี่ยนไปยุคหลังโควิด-19