“โนดีลเบร็กซิต” หลอน ธุรกิจอังกฤษนั่งไม่ติด

เบร็กซิต
(Photo by EMMANUEL DUNAND / AFP)

นับถอยหลังกระบวนการ “เบร็กซิต” ที่สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งจะครบกำหนดการเปลี่ยนผ่าน 31 ธ.ค. 2563 แต่ดูเหมือนสถานการณ์จะเพิ่มความไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้น

เมื่อ “บอริส จอห์นสัน” นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ออกมาเปิดเผยเมื่อ 16 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า การเจรจาข้อตกลงการค้ากับอียู เพื่อกำหนดแนวทางหลังครบระยะ เปลี่ยนผ่านจากการเบร็กซิต “เป็นอันยุติ” และพร้อมเดินหน้าต่อไป “โดยปราศจากข้อตกลง” (no deal) หลังการประชุมร่วมกับ “ไมเคิล บาร์เนียร์” หัวหน้าคณะเจรจาเบร็กซิตของอียู ที่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้

เดอะ การ์เดียน รายงานว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ “มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส” ได้ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือประเทศลงมาจากระดับ Aa3 มาสู่ Aa2 โดยอ้างถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจที่ลดลงจากผลกระทบของโควิด-19 ท่ามกลางการระบาดรุนแรงรอบใหม่ และความไม่แน่นอนของเบร็กซิตที่ยังไม่สามารถทำข้อตกลงได้ ส่งผลให้เงินปอนด์อ่อนค่า 0.3% เมื่อเทียบกับค่าเงินยูโร

พร้อมระบุว่า รัฐบาลอังกฤษล้มเหลวในการสร้างความเชื่อมั่นสำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้ และแสดงให้เห็นถึงการที่สหราชอาณาจักรไม่พยายามทำข้อตกลงให้ทั้งอียูและสหราชอาณาจักรได้ประโยชน์ร่วมกัน

ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า การที่ “บอริส จอห์นสัน” ขู่ไม่เจรจาข้อตกลงการค้ากับอียูต่อ และปล่อยให้กระบวนการเบร็กซิตเกิดขึ้นแบบ “โนดีล” หรือการที่ไม่มีข้อตกลงการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียู จะมีผลกระทบ “ขั้นวิกฤต” กับเศรษฐกิจในสหราชอาณาจักรอย่างมาก เนื่องจากภาคธุรกิจต่าง ๆ จะต้องเผชิญกับอัตราภาษีศุลกากร การนำเข้าสินค้า และการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศเหมือนกับไม่ได้อยู่ในสหภาพยุโรป

ส่งผลให้กลุ่มผู้ประกอบการในสหราชอาณาจักรถึง 190,000 บริษัท จากกว่า 70 องค์กรการค้าต่าง ๆ ที่ครอบคลุมแรงงานกว่า 7 ล้านคน ทั้งสมาคมผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ อุตสาหกรรมยา ธุรกิจการเกษตร ปิโตรเคมี การบิน ธุรกิจการเงิน รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยี ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษเร่งเดินหน้าเจรจาข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรป

โดยระบุว่า หากไม่มีข้อตกลงใหม่กับสหภาพยุโรป ประเด็นเรื่องภาษีศุลกากรและกฎหมายด้านอื่น ๆ จะเป็นปัญหาให้ดำเนินธุรกิจได้ยากลำบาก และส่งผลกระทบในระยะยาว พร้อมจี้ให้นักการเมืองรีบประชุมเจรจาข้อตกลงภายในอาทิตย์นี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ ประธานสมาคมอุตสาหกรรมยาของอังกฤษ กล่าวว่า รัฐบาลต้องรีบเจรจาทำข้อตกลง เนื่องจากตอนนี้ไม่มีความชัดเจนเลยว่ากฎหมายการทดลองยา และการขนส่งยาในปีหน้าจะเป็นอย่างไร ขณะที่ “พอลล์ อีฟเรตต์” ประธานสมาคมการค้าธุรกิจการบินและอวกาศ กล่าวว่า ถ้าหากไม่มีข้อตกลงการค้าจะทำให้การขนส่งสินค้าข้ามแดนเป็นไปอย่างล่าช้าและมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ซึ่งจะเป็นการเพิ่มวิกฤตธุรกิจจากเดิมที่ต้องรับมือกับโรคโควิด-19 ระบาดอยู่แล้ว


หากไม่สามารถทำข้อตกลงได้ สหภาพยุโรปจะต้องทำการค้ากับสหราชอาณาจักรเหมือนประเทศนอกอียู ทำให้อาจกลายเป็น “เบร็กซิต” ที่ตัดความสัมพันธ์ในสหภาพยุโรปไปเลย