โควิดดันธุรกิจใช้ “หุ่นยนต์” แย่งงาน 800 ล้านคนทั่วโลก

โควิดดันธุรกิจใช้
Philip FONG / AFP

ผลกระทบของธุรกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นับว่าหนักหนาสาหัสโดยเฉพาะจากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปรับตัวด้วยการหาวิธีการดำเนินงานแบบใหม่ที่ลดการสัมผัสใกล้ชิดกันระหว่างบุคคล หนึ่งในนั้นคือการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์

ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติทั่วโลกเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ท่ามกลางภาวะโรคระบาด เนื่องจากธุรกิจจำนวนมากโดยเฉพาะภาคบริการและการผลิตหันมาใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อช่วยให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ในช่วงที่ต้องรักษาระยะห่าง ข้อมูลของคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐระบุว่า

ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2020 แม้การนำเข้าสินค้าโดยรวมจะลดลง 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่การนำเข้าหุ่นยนต์อุตสาหกรรมกลับเพิ่มสูงขึ้น 5%

ด้านสมาคมหุ่นยนต์ญี่ปุ่นเผยว่า ยอดส่งออกหุ่นยนต์ของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 13% ในไตรมาส 2/2020 ขณะที่จีนก็มียอดการผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 14% ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา

“แพทริก ชวาร์สคอฟ” คณะกรรมการสมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (ไอเอฟอาร์) ระบุว่า วิกฤตครั้งนี้เป็นปัจจัยหนุนเทคโนโลยีหุ่นยนต์อย่างแท้จริง โดยคาดว่าปริมาณการใช้ “หุ่นยนต์บริการระดับมืออาชีพ” จะสูงขึ้น 38% ในปีนี้ และจะเติบโตต่อเนื่องอีก 2 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะหุ่นยนต์ด้านโลจิสติกส์ที่มีแนวโน้มการใช้งานเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวรวมถึงหุ่นยนต์ด้านการแพทย์

และทำความสะอาด “เคลาส์ ริซาเกอร์” เจ้าของบริษัทบลู โอเชียน โรบอติกส์ เปิดเผยว่า ยอดขายหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 1,000% ในปีนี้ จากความต้องการของโรงพยาบาล โรงเรียน และสนามบิน “ธุรกิจต่าง ๆ กำลังแสดงให้ลูกค้าเห็นว่า พวกเขาทำอะไรบ้างเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับลูกค้า”

“เอลิซาเบธ เรย์โนลด์ส” ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ระบุว่า การแพร่กระจายของไวรัสเป็นปัจจัยที่เร่งให้ภาคธุรกิจหันมาใช้งานหุ่นยนต์และเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อช่วยรับมือกับการจัดการงานจำนวนมหาศาลในช่วงโรคระบาด และหลายบริษัทได้เรียนรู้วิธีการรักษากำลังการผลิต ในช่วงที่มีจำนวนแรงงานน้อยลงผลวิจัยของบลูมเบิร์กอีโคโนมิกส์ที่ระบุว่า การที่ภาคธุรกิจหันไปใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้น กำลังส่งผลให้พนักงานราว 800 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ซึ่งคิดเป็นจำนวนมากถึง 1 ใน 4 ของแรงงานทั่วโลก ตกอยู่ในความเสี่ยงถูกเลิกจ้าง

โดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ สาธารณรัฐเช็ก สโลวะเกีย และญี่ปุ่น ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง เนื่องจากมีการใช้งานระบบอัตโนมัติมากภายในประเทศ ขณะเดียวกันแรงงานจำนวนมากในประเทศเหล่านี้ยังมีลักษณะ “งานรูทีน” ทำให้เสี่ยงที่จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์อัตโนมัติ

ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารธุรกิจโดยบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ”แมคคินเซย์” พบว่า ผู้บริหารธุรกิจเร่งปรับตัวนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจเร็วขึ้นถึง 25 เท่า จากก่อนหน้าภาวะโรคระบาด ทัศนคติที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของผู้บริหารธุรกิจต่าง ๆ ตอกย้ำความเสี่ยงให้กับตลาดแรงงาน โดยเฉพาะอาชีพที่สามารถทดแทนได้ด้วยหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ

อย่างแคชเชียร์และพนักงานต้อนรับ โดยมีเพียงแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีสูงเท่านั้นที่ยังคงมีความต้องการสูงในตลาดแรงงาน