อนาคตยักษ์แชโบล “ซัมซุง” เกมหมากรุกที่ซับซ้อน

(Photo by Jung Yeon-je / AFP)

แม้ว่า “อี ก็อน ฮี” ประธาน “ซัมซุง กรุ๊ป” วัย 78 ปี จะนอนป่วยมา 6 ปีแล้ว แต่การเสียชีวิตเมื่อ 25 ต.ค. 2020 ก็เป็นที่จับตาถึงการผลัดใบของ “ซัมซุง กรุ๊ป” เพราะ “อี ก็อน ฮี” ถือเป็นผู้สร้างตำนาน “ซัมซุง” จากผู้ผลิตโทรทัศน์เล็ก ๆ เมื่อรับกิจการต่อจากพ่อที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น จนทำให้ซัมซุงก้าวขึ้นเป็นบริษัทระดับโลก และ “แชโบล” อันดับหนึ่งของเกาหลีใต้

สไตล์ผู้นำของ “อี ก็อน ฮี” เป็นวิธีที่ค่อนข้างโหดและเด็ดขาด อย่างการสั่งโยนโทรศัพท์มือถือ 2 พันเครื่องที่ผลิตออกมาไม่ได้คุณภาพเข้ากองไฟ หรือคติส่วนตัวที่ว่า “เปลี่ยนทุกอย่างยกเว้นครอบครัว” กล่าวคือยอมที่จะทำและเปลี่ยนทุกอย่างเพื่อให้กิจการเติบโต

ปี 2019 ที่ผ่านมา “ซัมซุง กรุ๊ป” มีรายได้ 326.7 ล้านล้านวอน คิดเป็น 17% ของจีดีพีประเทศ ซึ่งฐานธุรกิจสำคัญคือ “ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งเป็นผู้นำตลาด “สมาร์ทโฟน” โลก รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งเมโมรี่ชิปและจอภาพ นอกจากนี้ยังมีธุรกิจประกันชีวิต “ซัมซุง ไลฟ์ อินชัวรันซ์” ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจการแพทย์ ค้าปลีก และอื่น ๆ อีกมากมาย

ขณะที่นิตยสารฟอร์บสรายงานว่า “อี ก็อน ฮี” เป็นชาวเกาหลีใต้ที่ร่ำรวยที่สุดด้วยทรัพย์สิน 2.09 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (6.54 แสนล้านบาท) และหลังการเสียชีวิตทรัพย์สินทั้งหมดจะตกอยู่ในมือของภรรยาและลูกทั้งสาม

เอเชียน ไทมส์รายงานว่า สำหรับลูกชายคนโต “อี แจยอง” หรือ “เจย์ วาย ลี” ปัจจุบันนั่งเป็นรองประธานในฐานะผู้สืบทอด และมีน้องสาวสองคนเป็นประธานบริษัทอื่น ๆ ในเครือ

แม้ว่า “เจย์ วาย ลี” คือผู้สืบทอดอำนาจที่จะทำหน้าที่ประธานคนต่อไปของ “ซัมซุง” แต่ประวัติของลูกชายคนนี้ถูกมองว่าไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้นำอาณาจักรแห่งนี้ เคยติดคุกฐานความผิดติดสินบนเจ้าหน้าที่ และขึ้นศาลอาทิตย์หน้า ในข้อหาฉ้อโกงและปั่นหุ้น

อดีตผู้บริหารระดับสูงของซัมซุงกล่าวว่า “อี ก็อน ฮี” มีวิสัยทัศน์และหลักการใช้ชีวิตที่ชัดเจน ซึ่งต่างกับ “เจย์ วาย ลี” ที่ไม่มีวิสัยทัศน์ และเหมือนกับแค่ “อยู่บริษัทเฉย ๆ”

“ปาร์ค ซัง อิน” นักวิเคราะห์แชโบลจากมหาวิทยาลัยโซล มองว่าไม่น่ามีการเปลี่ยนแปลงการบริหารในบริษัท เนื่องจาก “อี ก็อน ฮี” เข้าโรงพยาบาลมา 6 ปีแล้ว และหากจะมีการปรับโครงสร้างแบ่งแยกธุรกิจไปให้พี่น้องแต่ละคน อาจจะไม่ใช่เพราะเหตุผลทางธุรกิจและเป็นเหตุผลส่วนตัวมากกว่า

หนึ่งในปมปัญหาในการส่งต่อมรดกมหาศาลคือ “ภาษีมรดก” เนื่องจากเกาหลีใต้คิดภาษีมรดกแพงที่สุดในโลก ซึ่งสำนักข่าวยอนฮัปรายงานว่า ภาษีมรดกกับทรัพย์สินที่ “อี ก็อน ฮี” ทิ้งไว้ทั้งหมดอาจสูงถึง 10 ล้านล้านวอน (2.7 แสนล้านบาท) แม้จะสามารถลดหย่อนภาษีด้วยการโอนหุ้นไปยังองค์กรไม่แสวงหากำไรแล้ว แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่าทางครอบครัวน่าจะยอมจ่ายภาษีโดยตรง เนื่องจากที่ผ่านมาครอบครัวมีประวัติคดีต่าง ๆ อยู่แล้ว

การผลัดใบสู่ยุคที่ 3 ของซัมซุง ถือเป็นความท้าทายของจุดเปลี่ยน เพราะ “อี แจยอง” ผู้สืบทอดรุ่นที่ 3 ได้ประกาศว่าจะไม่มีการส่งต่ออาณาจักรแห่งนี้ให้กับทายาทรุ่นที่ 4 หลังจากที่ตัวเองต้องเผชิญชะตากรรม และทำให้บริษัทพัวพันกรณีอื้อฉาวระดับประเทศ