‘เวิลด์แบงก์’ เตือนระวัง วิกฤตโควิดซ่อน ‘วิกฤตการเงิน’

Photo by Yasin AKGUL / AFP
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

“คาร์เมน ไรน์ฮาร์ท” หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก หรือ “เวิลด์แบงก์” ให้สัมภาษณ์ แดร์ สปีเกล สื่อรายสัปดาห์ของเยอรมนีเมื่อ 30 ต.ค.นี้ว่า ด้วยเหตุใดวิกฤตการณ์ระดับโลกครั้งนี้จึงแตกต่างไปจากวิกฤตที่โลกเคยเผชิญกันมา ซึ่งทำให้การฟื้นตัวจากวิกฤตครั้งนี้ก็แตกต่างไปด้วย

ทั้งเตือนว่า หากปราศจากการบริหารจัดการที่ดี เหมาะสม วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจบานปลายกลายเป็น “วิกฤตการเงิน” เหมือนอย่างที่หลายประเทศตกเป็นเหยื่ออยู่ในเวลานี้

“ไรน์ฮาร์ท” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสสัญชาติเยอรมันเชื้อสายคิวบา ยืนยันไว้ตั้งแต่เดือน มี.ค.เมื่อการระบาดเริ่มแพร่ออกไปทั่วโลกว่า วิกฤตโควิดแตกต่างกันมากจากวิกฤตที่ผ่าน ๆ มา เพราะต้นเหตุของวิกฤตครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากภาวะฟองสบู่การเงิน ซึ่งมักเกิดขึ้นก่อนหน้าวิกฤตสำคัญ ๆ ของโลก ไม่ได้เกิดจากฟองสบู่อสังหาฯ หรือภาระหนี้สินเกินตัวของธุรกิจต่าง ๆ

ไรน์ฮาร์ทบอกว่า ในบางประเทศอาจมีปัญหาเหล่านี้แฝงอยู่ แต่ไม่ใช่ตัวจุดชนวนให้เกิดวิกฤตครั้งนี้

นั่นทำให้การดิ่งลึกของเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของแต่ละประเทศแตกต่างกันออกไปจากทุกครั้งที่ผ่านมา ยิ่งล็อกดาวน์นานมากเท่าใด ความไม่แน่นอน ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับดุลบัญชีของรัฐบาล ของครัวเรือน และบริษัทต่าง ๆ ยิ่งมากมายตามไปด้วย ปัญหาก็จะลามไปสู่ภาคการเงิน ภาพธุรกิจล้มละลายเพิ่มจำนวนมากขึ้น สถานะทางการเงินของรัฐเริ่มเปราะบาง ผันผวน เมื่อนั้นวิกฤตโควิดก็จะเริ่มก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในระดับที่คล้ายคลึงกับที่ผ่านมา

“คนที่ตกงาน ไม่ได้งานกลับมาทำโดยเร็ว ปัญหาผิดนัดชำระหนี้จะเกิดขึ้นกับคนเหล่านี้ หลาย ๆ ธุรกิจอาจอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่อาจไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้อีกเลย อย่างเช่นธุรกิจบันเทิง, ภัตตาคาร และค้าปลีก ซึ่งจะไม่ฟื้นตัวกลับมา” ไรน์ฮาร์ทระบุ

ข้อสังเกตของไรน์ฮาร์ทที่น่าสนใจก็คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด ในช่วงแรกอาจมองดูแล้วเหมือนกับเป็นการดีดตัวกลับในทันทีเหมือนรูปตัว “V” แต่ในความจริงแล้ว การฟื้นตัวรูปตัววีดังกล่าวเป็นเพียงแค่ “ส่วนหนึ่ง” ของระบบ ไม่ได้ทั่วถึงอย่างแท้จริง

ตัวเลขการผลิตของอุตสาหกรรม, ตัวเลขการจ้างงานบางภาคธุรกิจเรื่อยไปจนถึงค้าปลีก อาจฟื้นตัวสู่ระดับเดิมอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ได้หมายความว่า สภาวะของทั้งประเทศจะฟื้นตัวเหมือนกันทั้งหมด

ตัวชี้วัดการฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดิมอย่างแท้จริงในทัศนะไรน์ฮาร์ทคือ รายได้ประชากรต่อคนต่อปีที่เรียกว่า “รายได้ประชาชาติ” ว่ากลับคืนมาเท่ากับเมื่อก่อนวิกฤตแล้วหรือไม่ พร้อมยกตัวอย่างกรณีของกรีซที่เกิดวิกฤตหนี้เมื่อ 13 ปีที่แล้วและจนบัดนี้รายได้ประชาชาติของกรีซยังคงต่ำกว่าระดับเมื่อ 13 ปีก่อน

ไรน์ฮาร์ทชี้ว่า หากมองย้อนหลังไปตรวจสอบในช่วง 160 ปีก่อนหน้า นำวิกฤตแต่ละครั้งมาหาเวลาเฉลี่ยของการฟื้นตัวจะพบว่า หลังวิกฤตแต่ละครั้ง ประเทศอาจต้องใช้เวลานานถึง 8 ปี กว่าจะกลับคืนสู่สถานะเดิม แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า ขณะเกิดวิกฤต สถานการณ์ของประเทศนั้น ๆ เป็นอย่างไร

ตัวอย่างเช่น วิกฤตการเงินปี 2008-2009 เยอรมนีที่ไม่มีปัญหาฟองสบู่อสังหาฯ ไม่มีปัญหาหนี้ครัวเรือน เหมือนใสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, สเปน และไอร์แลนด์ ก็จะฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศเหล่านั้น

ในวิกฤตโควิดครั้งนี้ ไรน์ฮาร์ทชี้ให้เห็นว่า ประเทศมั่งคั่งทั้งหลายที่มี “กระสุน” คงคลังอยู่มาก หรือสามารถกู้ยืมในราคาถูกได้มากกว่าจะได้เปรียบ

ตรงกันข้าม ประเทศที่สถานะทางการเงินในสภาพ “เปราะบาง” ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตถึงขั้นพักชำระหนี้ก็จะเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ประเทศที่มีรายได้ต่ำ 73 ประเทศทั่วโลก มีอยู่ราวครึ่งหนึ่งที่กำลังตกอยู่ในสภาพวิกฤตเช่นนี้ หรือไม่ก็กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตนี้ อาทิ เวเนซุเอลา และสุรินาเม ที่ปัญหาหนี้กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง

ในขณะอุทาหรณ์ที่เป็นรูปธรรมก็คือ ประเทศอย่าง เลบานอน, อาร์เจนตินา และเอกวาดอร์ ที่ต้องพักชำระหนี้ไปแล้ว หรือ แซมเบีย ที่จะพักหนี้ตามมาในเร็ว ๆ นี้