แผนจีนขยายเขื่อนในทิเบต คุมต้นน้ำกระทบ ‘อินเดีย’

ความสัมพันธ์ระหว่าง “จีน” และ “อินเดีย” ตึงเครียดกันมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากเกิดเหตุการณ์ปะทะกันของทหารสองชาติบริเวณพื้นที่พิพาทชายแดนลาดักห์ เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายต่างใช้ดำเนินนโยบายโต้ตอบกันมาเป็นระยะ ซึ่งโครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในเขตปกครองตนเองทิเบตของจีน กำลังเป็นที่จับตามองว่าอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการขยายอิทธิพลของจีนเหนือดินแดนพิพาททั้ง 2 ประเทศ

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า รัฐบาลจีนกำลังเดินหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่น้ำยาร์ลุงซางโป (Yarlung Tsangpo) ในเขตปกครองตนเองทิเบต ซึ่งเป็นต้นสายแม่น้ำพรหมบุตรในรัฐอรุณาจัลประเทศของอินเดีย เป็นโครงการก่อสร้างเขื่อนสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำในหลายเมืองของทิเบต ซึ่งทางการจีนคาดว่าเมื่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 1 ใน 4 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าของจีนทั้งประเทศ

โครงการสร้างเขื่อนเหล่านี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2010 โดยเฟสแรกของแผนการก่อสร้างอยู่ในช่วงตอนกลางของแม่น้ำยาร์ลุง โดยหนึ่งในเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วคือ เขื่อนซางมู (Zangmu) ซึ่งเริ่มดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบมาตั้งแต่ปี 2015 และยังมีเขื่อนอีกอย่างน้อย 11 เขื่อน ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง

แต่เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลจีนเริ่มส่งสัญญาณถึงความสนใจที่จะขยายโครงการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำยาร์ลุงเพิ่มเติม โดยขยับเข้าใกล้พื้นที่พิพาท หรือที่เรียกว่าแนวเส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง (แอลเอซี) ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทระหว่าง 2 ชาติ กินพื้นที่ชายแดนยาวถึง 3,488 กิโลเมตร โดยทั้งฝ่ายจีนและอินเดียต่างอ้างสิทธิ์ในการครอบครองมาเป็นเวลาหลายสิบปี

“จากันนาธ ปันดา” นักวิจัยจากสถาบันเพื่อการศึกษาและวิเคราะห์การป้องกันประเทศมาโนฮาร์พาร์ริการ์ ระบุว่า “รัฐบาลอินเดียกำลังวิตกกังวลต่อโครงการก่อสร้างเขื่อนเหล่านี้ของจีน เนื่องจากเข้าใกล้พื้นที่พิพาทแอลเอซีอย่างมาก” อีกทั้งกรณีพิพาททางการทหารเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้มองได้ว่าจีนอาจกำลังใช้เขื่อนและโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำเป็น “เครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์” ในการขยายอิทธิพลในภูมิภาค

ไม่เพียงความขัดแย้งระหว่างประเทศ การสร้างเขื่อนจำนวนมากของจีนยังเป็นที่กังวลของประเทศปลายน้ำทั้ง “บังกลาเทศและอินเดีย” ที่อาจได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศจากการผันแปรของกระแสน้ำ แม้ว่าโครงการ สร้างเขื่อนเหล่านี้จะมีการทำข้อตกลงว่าจีนจะแบ่งปันข้อมูลด้านอุทกวิทยาในช่วงฤดูมรสุม เพื่อป้องกันเหตุน้ำท่วมรุนแรงในประเทศพื้นที่ลุ่มต่ำก็ตาม

“เกาแตม แบมบาเวล” อดีตเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศจีนระบุว่า การแบ่งปันด้านอุทกวิทยาเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอให้ทุกฝ่ายเห็นด้วยต่อการสร้างเขื่อนจำนวนมากของจีน เนื่องจาก “ไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมการก่อสร้างเขื่อนในตอนกลางของแม่น้ำยาร์ลุง แม้ว่ารัฐบาลอินเดียได้แสดงความกังวลหลายต่อหลายครั้งถึงกิจกรรมการก่อสร้างเหล่านั้น”

โดยแบมบาเวลย้ำว่า การสร้างเขื่อนเป็นประเด็นที่น่ากังวลสำหรับอินเดีย ซึ่งรัฐบาลอินเดียได้เรียกร้องให้จีนส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองชาติมากขึ้น รวมทั้งการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับแม่น้ำกับประเทศปลายน้ำด้วย “เราต้องการความโปร่งใสมากขึ้นระหว่าง 2 ประเทศในเรื่องนี้”


ขณะที่ “อนามิกา บารัว” ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมประจำสถาบันเทคโนโลยีกูวาฮาติแห่งอินเดีย ระบุว่า การสร้างเขื่อนที่ไม่มีการแบ่งปันข้อมูลด้านการก่อสร้างจะนำไปสู่การคาดเดาและความไม่ไว้วางใจ รวมถึงการสื่อสารที่ผิดพลาดเกี่ยวกับการบริหารจัดการแม่น้ำ ซึ่งเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 2 ประเทศในอนาคต