ข้อตกลงค้าเสรี ‘ญี่ปุ่น-อียู’ ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว

ข่าวคราวที่ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป(อียู) สามารถบรรลุข้อตกลงในหลักการที่จะเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างกันเมื่อสัปดาห์ก่อน นับว่าเป็นข่าวใหญ่ที่ถูกจับตามองมากพอสมควร เพราะหมายถึงประเทศและกลุ่มเศรษฐกิจที่มีพื้นที่เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกได้ถือ

กำเนิดขึ้นแล้ว แม้ว่าการตกลงในรายละเอียดจะใช้เวลาอีกนานก็ตาม การบรรลุข้อตกลงระหว่างสองฝ่ายครั้งนี้ ไม่ธรรมดา แต่ต้องการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างแฝงอยู่ด้วย เพราะเกิดขึ้นในห้วงที่สหรัฐอเมริกาภายใต้รัฐบาล “โดนัลด์ ทรัมป์” ถอยห่างจากเวทีโลก ไม่เอาการค้าเสรี ไม่ร่วมมือลดโลกร้อน และใช้นโยบายมุ่งสู่ภายในแทนการออกไปข้างนอก ซึ่งทำให้บทบาทของอเมริกาอับแสงไปโดยปริยาย

การที่โดนัลด์ ทรัมป์ นำอเมริกาถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจข้ามแปซิฟิก (ทีพีพี) สร้างความผิดหวังอย่างมากให้กับญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นเห็นว่าทีพีพีจะไม่มีความหมายหรือประโยชน์ใดสำหรับญี่ปุ่นเลยหากไม่มีสหรัฐ ส่วนสหภาพยุโรปเองก็กำลังเผชิญกับความท้าทายเจียนอยู่เจียนไปครั้งใหญ่

ภายหลังจากชาวอังกฤษโหวตออกจากการเป็นสมาชิกอียู ประกอบกับความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนักกับอเมริกา ดังนั้นก็มีความจำเป็นที่ทั้งญี่ปุ่นและอียูในฐานะประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้วในระดับสูง ต้องผนึกกันเล่นบทบาทเป็นผู้นำสนับสนุนค้าเสรีเพื่อให้ประเทศอื่น ๆ ที่เหลือเห็นว่าการค้าเสรียังมีชีวิต

“โดนัลด์ ทัสค์” ประธานสหภาพยุโรป ระบุว่า ข้อตกลงครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าอียูให้พันธะผูกพันกับการค้าโลก เป็นการหักล้างพวกที่นิยมเบร็กซิต และอ้างว่าอียูไม่สามารถส่งเสริมการค้าเสรี

“แม้จะมีบางคนพูดว่าในห้วงที่กระแสการโดดเดี่ยวกำลังกลับมาอีกครั้ง แต่เรากำลังแสดงให้เห็นว่าไม่จริง”

ญี่ปุ่นและอียู ใช้เวลา 4 ปี ผ่านการเจรจา 18 ครั้ง จึงบรรลุกรอบข้อตกลงซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ว่าหลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีและมีนโยบายกีดกันการค้ามีส่วนเร่งให้อียูและญี่ปุ่นสามารถเอาชนะความไม่ลงรอยได้เร็วขึ้น ข้อตกลงครั้งนี้ถูกเรียกว่าเป็นการทำ”สองข้อตกลงในราคาเดียว” คือ 1.สร้างกลุ่มการค้าเสรีขนาดใหญ่ 2.ร่วมมือกันในด้านอื่นเช่นต่อสู้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งทั้งสองประการนี้ล้วนเป็นเรื่องที่อเมริกาถอนตัวออกไป

กรณีของญี่ปุ่นนั้น ลึก ๆ ยังมีความหวังที่จะให้สหรัฐหวนกลับสู่ทีพีพี โดยรอให้มีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เสียก่อน ระหว่างนี้ก็พยายามหล่อเลี้ยงการค้าเสรีให้มีชีวิตต่อไป

“อลัน บอลลาร์ด” ผู้อำนวยการบริหารความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ระบุว่าหลังจากญี่ปุ่นบรรลุข้อตกลงค้าเสรีกับอียู ส่งให้ญี่ปุ่นจรัสแสงขึ้นมาในฐานะผู้นำการค้าเสรี โดยปลายเดือนนี้ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพประชุมประเทศสมาชิกทีพีพี 11 ประเทศ ถึงแม้จะไม่มีสหรัฐก็ตาม

“เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้จิตวิญญาณค้าเสรียังคงอยู่ต่อไป” ผู้อำนวยการบริหารเอเปกระบุทั้งนี้อียูและญี่ปุ่นมีขนาดจีดีพีรวมกันประมาณ 19% ของจีดีพีโลก ส่งออกสินค้าคิดเป็น 38% ของการส่งออกทั่วโลกและไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าข้อตกลงค้าเสรีครั้งนี้เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว เพราะนอกจากจะเพิ่มการค้าขายระหว่างสองฝ่ายแล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะใช้เรื่องนี้ต้านทานกระแสเบร็กซิตที่จะเป็นผลลบกับอียู ส่วนญี่ปุ่นก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือชุบชีวิตทีพีพีเพื่อรอเวลาที่สหรัฐจะเปลี่ยนใจ และยังได้ของแถมมาในฐานะผู้แสดงบทบาทนำด้านการค้าแทนสหรัฐ