‘ยูนิลีเวอร์’ สร้างเกมสู้โควิด-19 หนุนธุรกิจ ‘รักษาการจ้างงาน’

ภาคธุรกิจทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ต้องปรับแผนลงทุน ลดค่าใช้จ่ายเพื่อพยุงให้ธุรกิจเดินหน้าต่อได้ หนึ่งในวิธีการที่หลายธุรกิจเลือกใช้ คือ การปรับลดพนักงาน ซึ่งแม้ว่าจะช่วยให้ธุรกิจลดต้นทุน แต่ก็อาจสร้างปัญหาในภาพใหญ่จากอัตราการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้น กลายเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

รอยเตอร์สรายงานว่า “ยูเฟลกซ์รีวอร์ด” (uFlexReward) บริษัทเทคโนโลยีทางการเงินในเครือ “ยูนิลีเวอร์” ยักษ์สินค้าอุปโภคบริโภคของสหราชอาณาจักร (ยูเค) ได้พัฒนาเกมวางแผนธุรกิจ COVID-19 War Game โดยจำลองสถานการณ์การบริหารธุรกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อให้ผู้เล่นได้มีโอกาสทดลองศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านจากการปรับลดพนักงาน

เกมพัฒนาขึ้นตั้งแต่ช่วงที่อังกฤษประกาศมาตรการล็อกดาวน์รอบแรกช่วงกลางปี 2020 และเปิดให้ใช้งานฟรีบนเว็บไซต์ของยูเฟลกซ์รีวอร์ด โดยเนื้อหาของเกมจะกำหนดให้ผู้เล่นคิดวิธีการปรับลดค่าใช้จ่ายฝ่ายบุคคลของบริษัทสมมุติลงให้ได้ 20%

เกมจะแสดงรายละเอียดเงื่อนไขและปัจจัยต่าง ๆ เช่น ฐานเงินเดือนพนักงาน เงินบำนาญ โบนัส และเงินปันผล เพื่อให้ผู้เล่นได้ตัดสินใจและเห็นทางเลือกในการลดรายจ่ายของบริษัทในส่วนที่ไม่จำเป็นได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งผู้เล่นจะได้เรียนรู้ถึงข้อดี-ข้อเสียในการลดความซ้ำซ้อนของตำแหน่งงาน เทียบกับผลประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับ และผลต่อระบบเศรษฐกิจ

“เคน ชาร์แมน” ซีอีโอของยูเฟลกซ์รีวอร์ดระบุว่า เกมจะแสดงให้เห็นแนวทางการลดต้นทุนในส่วนต่าง ๆ ในภาพกว้างต่อการดำเนินธุรกิจในภาวะวิกฤตในปัจจุบัน แทนที่จะเป็นการปรับลดต้นทุนจำนวนมากในครั้งเดียว เช่น การเลิกจ้างด้วยการยุบหน่วยงาน หรือการตัดโบนัสพนักงาน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อบริษัทในระยะยาว และช่วยให้บริษัทไม่ต้องเสี่ยงที่จะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว

“หากบริษัทสูญเสียพนักงานที่ได้รับการฝึกฝนเป็นมาอย่างดี มีประสบการณ์ และซื่อสัตย์ต่อบริษัทไป ก็จะไม่ได้รับสิ่งเหล่านี้กลับคืนมา” ชาร์แมนกล่าว

ชาร์แมนยังคาดหวังว่า เกมนี้จะทำให้ผู้บริหารหันไปลดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ แทนที่จะปลดพนักงาน เช่น การงดเว้นการจ่ายเงินปันผล หรืองดการขึ้นเงินเดือนผู้บริหาร รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานทางไกล รวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบให้ยืดหยุ่น เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานต่อไปได้

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มีพนักงานที่ถูกเลิกจ้างหลายล้านคนทั่วโลก สำหรับอังกฤษแม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจ โดยการจัดสรรงบประมาณอุดหนุน แต่สถิติพนักงานที่ถูกเลิกจ้างจากวิกฤตครั้งนี้ก็พุ่งสูงถึง 314,000 คน ในไตรมาสที่ 3/2020

แอนดี ฮาลเดน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารกลางอังกฤษ ระบุว่า “บริษัทหลายแห่งในยูเคกำลังเผชิญหน้ากับการขาดสภาพคล่อง เครื่องมือจำลองสถานการณ์ช่วยให้เราเข้าใจวิธีการที่ดีที่สุดในการจัดการสภาพคล่องทางการเงิน ขณะที่ยังคงรักษาการจ้างงานเอาไว้ได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจและผู้ออกนโยบาย เมื่อต้องตัดสินใจทางการค้าและเศรษฐกิจในช่วงเวลานี้”