ธนาคารกลางยุโรปตั้งรับวิกฤต ‘อียู’ ในยุค ‘โควิดระลอกสอง’

ต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา สถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรงในทวีปยุโรป พบผู้ติดเชื้อถึง 12.8 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตถึง 3 แสนคน แต่ละประเทศอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปน ก็เริ่มกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งตลอดเดือน พ.ย. และอาจขยายไปถึงสิ้นปีหากสถานการณ์แย่ลง

ขณะที่เมื่อ 11-12 พ.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้จัดฟอรัมออนไลน์หัวข้อ “Central Banks in a Shifting World” เพื่อสะท้อนถึงความจำเป็นในการปรับตัวของรัฐบาล และสถาบันทางการเงินในแต่ละประเทศ ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

“คริสติน ลาการ์ด” ประธานธนาคารกลางยุโรป กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก และถึงแม้จะมีข่าวดีจาก “ไฟเซอร์” เรื่องประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแต่ละประเทศยังต้องกลับมาเริ่มล็อกดาวน์ใหม่ และจะเกิดขึ้นจนกว่าทุกคนบนโลกจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้

ลาการ์ดอธิบายว่า การพัฒนาเศรษฐกิจยุโรปจะมีจังหวะแบบ “start-stop” หมายถึง กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะ “เริ่ม” และ “หยุด” ตามการล็อกดาวน์ของแต่ละประเทศ

ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า แม้ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ตัวเลขเศรษฐกิจยุโรป (จีดีพี) ขยายตัวถึง 12.7% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หลังรัฐบาลของแต่ละประเทศออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงฤดูร้อน แต่อัตราการติดเชื้อโควิด-19 สูงขึ้นเรื่อย ๆ ช่วงฤดูหนาวนี้ อีซีบีจึงคาดการณ์ว่าไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เศรษฐกิจจะหดตัวลงขณะที่ผลกระทบของการล็อกดาวน์ ทำให้ผู้ประกอบการต้องเลิกจ้างพนักงาน และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตั้งแต่การระบาดระลอกแรก

โดยอีซีบีระบุว่า เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ยุโรปมีอัตราการว่างงาน 7.2% และเพิ่มขึ้นเป็น 8.3% ในช่วงเดือน ก.ย. ซึ่งการล็อกดาวน์รอบใหม่ในเดือน พ.ย.นี้ คาดว่าตัวเลขว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน

“แม้ว่าการระบาดไวรัสระลอกที่สองนี้จะมีความรุนแรงน้อยกว่าครั้งแรก แต่ก็ก่อให้เกิดอันตรายต่อเศรษฐกิจไม่น้อย” ลาการ์ดกล่าว

อย่างไรก็ตาม “เบิร์ท โคจิน” นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารไอเอ็นจี มองว่า การล็อกดาวน์ครั้งนี้เหมือนเป็นการ “ล็อกดาวน์ความสนุกสนาน” มากกว่า ซึ่งหมายความว่าเป็นการปิดร้านค้าที่ไม่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิต อย่างร้านอาหาร บาร์ สถานบันเทิง ขณะที่ “กิจกรรมทางเศรษฐกิจ” ด้านอื่น ๆ ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ และต่างจากการล็อกดาวน์ครั้งแรกที่ทั้งเมืองแทบจะหยุดนิ่ง

นอกจากนี้ อีซีบีเตือนว่าถึงแม้แต่ละประเทศจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ถ้าเงินก้อนนี้หมดก่อนที่ภาคธุรกิจจะกลับมามีรายได้ปกติ อาจจะทำให้ธุรกิจไปไม่รอด และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปมากขึ้น ขณะที่มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการของแต่ละประเทศอาจช่วยให้คนตกงานไม่เพิ่มขึ้นมาก แต่หากโรคยังระบาดต่อไป อัตราการว่างงานจะสูงขึ้นอย่างแน่นอน โดยวิกฤตโรคโควิด-19 จะส่งผลต่อเศรษฐกิจยุโรปในระยะยาวมากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับจำนวนธุรกิจที่รอดหลังการสิ้นสุดโรคระบาด

ลาการ์ดกล่าวว่า อีซีบีจะเพิ่มการ “ซื้อพันธบัตรฉุกเฉิน” และ “ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำพิเศษ” ให้กับธนาคาร เพื่อช่วยควบคุมต้นทุนทางการเงินให้กับรัฐบาล ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน

“ความท้าทายสำคัญสำหรับผู้กำหนดนโยบาย คือ การลดต้นทุนการเงิน เพื่อเป็น “สะพานเชื่อมเศรษฐกิจ” จนกว่าวัคซีนจะก้าวหน้าออกสู่สาธารณะ และการฟื้นตัวของภาคธุรกิจสามารถสร้างแรงผลักดันของตัวเองได้” ลาการ์ดกล่าว


พร้อมยืนยันว่าอีซีบีอยู่เคียงคู่ในช่วงโควิด-19 ระบาดระลอกแรก และจะอยู่เคียงข้างกับการระบาดระลอกสอง