‘แควนตัส’ ฝ่าวิกฤต 100 ปี ซีอีโอท้าพิสูจน์หยุด ‘ขาดทุน’

หลังจากโควิด-19 ระบาด ทั่วโลกต่างปิดประเทศพร้อมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างมากหนีไม่พ้นธุรกิจสายการบิน ที่ต้องยกเลิกไฟลต์ทั่วโลกตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดย “สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ” (IATA) รายงานว่า ในช่วงครึ่งหลังปี 2021 อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกสูญเสียเม็ดเงินกว่า 7.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะยังคงต้องแบกค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 5-6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน โดยที่แทบไม่มีรายได้ และคาดว่าจะเริ่มกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งช่วงปี 2022

แต่สำหรับ “อลัน จอยส์” ซีอีโอสายการบิน “แควนตัส แอร์เวย์ส” สายการบินแห่งชาติของออสเตรเลีย ให้สัมภาษณ์ “ไฟแนนเชียล ไทม์” ในโอกาสที่สายการบินครบรอบ 100 ปี (16 พ.ย. 2020) ว่า สายการบินจะหยุดขาดทุนและกลับสู่จุดคุ้มทุนได้ จากการฉวยโอกาสในวิกฤตที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมการบิน

หลังจากที่เมื่อ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา บริษัทรายงานผลประกอบการ (ช่วง 12 เดือน) ขาดทุนสุทธิ 1.964 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (1.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ซีอีโอแควนตัสมั่นใจว่าจะสามารถกลับมาสู่จุดคุ้มทุนได้ จากการที่ประเทศออสเตรเลียสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 และรัฐบาลออสเตรเลียเริ่มเปิดพรมแดนระหว่างรัฐ ทำให้แควนตัสกลับมามีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยรายได้จากไฟลต์ภายในประเทศคิดเป็น 2 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งแควนตัสมีเป้าหมายที่จะครองส่วนแบ่งตลาด “เที่ยวบินภายในประเทศ” ให้ถึง 70% มากกว่าก่อนโควิด-19 ระบาดถึง 10% ในขณะที่สายการบิน “เวอร์จิ้น ออสเตรเลีย” เข้าสู่การล้มละลาย

นายอลันคาดว่า แควนตัสจะสามารถเพิ่มความจุผู้โดยสารถึง 50% บนไฟลต์ก่อนช่วงคริสต์มาส ซึ่งเป็นจำนวนความจุผู้โดยสารบนเครื่องบินที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับสายการบินทั่วโลกตอนนี้

ประกอบกับที่ออสเตรเลียกำลังมีโครงการ “Travel Bubble” กับประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งชาวนิวซีแลนด์สามารถเดินทางไปออสเตรเลียโดยไม่ต้องกักตัว และรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศจะให้เป็นการเดินทางแบบไม่ต้องกักตัว ทั้ง 2 ทางในช่วง ม.ค. 2021 ซึ่งสายการบินจะได้รับผลประโยชน์จากตรงนี้อย่างมาก

Advertisment

นายอลันกล่าวว่า สายการบินได้ปรับตัวอย่างมากตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาด ทั้งการเปิดโครงการ “Flight to Nowhere” เมื่อ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไฟลต์ทัวร์รอบประเทศ “บนน่านฟ้า” ออกเดินทางจากซิดนีย์ และบินผ่านสถานที่ท่องเที่ยวอย่าง “ไบรอนเบย์” แนวปะการัง “เกรต แบร์ริเออร์ รีฟ” และ “โขดหินอุลูรู” ก่อนที่จะบินกลับมาที่เดิม ซึ่งแควนตัสขายตั๋วหมดเกลี้ยงภายใน 10 นาที รวมถึงการนำสินค้าของสายการบินอย่างชุดนอนสำหรับผู้โดยสารชั้นบิสซิเนสออกมาขายไปถึง 10,000 ชุด ภายในไม่กี่ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม มาตรการสำคัญที่ทำให้แควนตัสสามารถมาอยู่ในจุดคุ้มทุนได้ก็คือ การลดค่าใช้จ่ายพนักงานถึง 1 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (2.1 หมื่นล้านบาท) โดยสั่งพักงาน 18,000 คน และปลดพนักงานออก 8,000 คน พร้อมขอเพิ่มทุน 3.5 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (7.6 หมื่นล้านบาท) จากผู้ถือหุ้น และการออกตราสารหนี้

Advertisment

การปลดพนักงานทำให้เกิดกระแสไม่พอใจอย่างมาก “ไมเคิล เคน” ประธานสมาคมแรงงานคมนาคม ได้เรียกร้องให้นายอลันลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ เพราะมองว่าเป็นการใช้ข้ออ้างโควิด-19 ในการไล่คนออก ทั้งที่ได้เงินหลายล้านจากค่าเบี้ยเลี้ยงแรงงานที่รัฐจ่ายชดเชยเพื่อให้ทางสายการบินยังสามารถจ้างพนักงานต่อได้

แต่นายอลันยืนยันว่าจำเป็นที่จะต้องลดพนักงาน ไม่เช่นนั้นแควนตัสจะเป็นหนึ่งใน 40% ของสายการบินทั่วโลกที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะล้มละลายในปีนี้ และเหตุผลที่ทำให้แควนตัส แอร์เวย์ส อยู่รอดมาได้ถึง 100 ปี ก็เพราะว่าปรับตัวทำในสิ่งที่จำเป็นสำหรับการอยู่รอดของสายการบิน