“ความหวังมนุษยชาติ” รวมวัคซีนป้องโควิด-19 ที่ทดลอง “ระยะที่ 3”

วัคซีนโควิด
ภาพโดย Ri Butov จาก Pixabay

ถึงแม้บริษัททั่วโลกต่างแถลงการณ์แสดงถึงความสำเร็จของวัคซีน อย่างไรก็ตามต้องรอดู “ผลข้างเคียงระยะยาว” จากผู้ทดลองว่ามีผลข้างเคียงหรือไม่ ซึ่งถ้าพบอาการ ก็ยังไม่สามารถใช้วัคซีนสาธารณชนได้

ขณะที่โลกกำลังอยู่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ระบาดอย่างหนัก ทางรัฐและเอกชนหลาย ๆ ประเทศต่างเริ่มกดดันเร่งพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อที่จะให้ผู้คนสามารถกลับมาอยู่แบบปกติได้เหมือนเดิม

ล่าสุดข้อมูลจากสำนักข่าว “Regulatory Affairs Professional Affairs” (RAPA) รายงานว่ามีบริษัทและองค์กรทั่วโลกถึง 50 แห่งที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลองวัคซีน ซึ่งผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมบริษัทที่กำลังอยู่ในขั้นตอนระยะที่ 3 หรือระยะสุดท้ายก่อนสามารถผลิตได้ ดังนี้

บริษัท “Pfizer” และ “BioNTech” เป็นบริษัทเภสัชกรรมแรกของโลกที่ได้เผยแพร่ผลการทดลองที่ประสบความสำเร็จในกลุ่มทดลองขนาดใหญ่ ซึ่งทางบริษัทได้แถลงการณ์เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า วัคซีนป้องกันการติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 ได้สูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และจากการทดลองในกลุ่มตัวอย่าง 44,000 คน ไม่พบผลข้างเคียงร้ายแรง มีแค่ผู้ทดลองบางคนที่มีอาการป่วยเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของวัคซีนคือต้องเก็บในตู้เย็นอุณหูมิต่ำถึง -70 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้การจัดเก็บและการขนส่งเป็นไปอย่างยากลำบากมาก

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา บริษัท “Gamaleya Research Institute” และองค์กร “Russian Direct Investment Fund” ของประเทศรัสเซียได้รายงานว่าวัคซีนของทางบริษัทชื่อ “สปุตนิก-วี” ( Sputnik-V) ก็ออกมายืนยันว่าการทดสอบวัคซีนในคนระยะที่ 3 ได้ผลถึง 92% จากผู้ร่วมการทดลอง 16,000 คน แต่ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับเนื่องจากยังไม่มีเอกสารระบุที่ชัดเจนถึงการทดลอง และไม่ได้มีรายงานถึงผลข้างเคียงที่มาจากวัคซีนอย่างชัดเจน

โดยล่าสุด บริษัทยา “Moderna” สหรัฐอเมริกา รายงานเมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันโควิด-19 มากที่สุดถึง 94% ซึ่งเป็นการรายงานหลังจากได้ทดลองกับ 15,000 คน และแทบไม่มีใครที่มีผลข้างเคียงตามมาจากวัคซีน ข้อดีของวัคซีน “mRNA-1273” ของบริษัท Moderna คือสามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8 องศา°C เก็บได้นาน 30 วัน และสามารถผลิตวัคซีนได้ 500 ล้าน ถึง 1 พันล้านโดสภายในปี 2021 แต่ข้อเสียคือต้องฉีดยาถึง 2 ครั้ง โดยต้องห่างกัน 4 อาทิตย์ และยังไม่มีรายงานถึงผลข้างเคียงระยะยาว

ก่อนหน้านี้บริษัทยาชื่อดังสองบริษัทอย่าง “AstraZeneca” และ “Johnson & Johnson” ที่อยู่ในขั้นตอนการทดลองระยะที่ 3 ต้องหยุดการทดลองไปช่วงเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา หลังมีผู้ทดลองบริษัท AstraZeneca มีผู้ทดลองมีอาการ “ไขสันหลังอักเสบ” และการที่องค์การอาหารและยามองว่าโรงงานผลิตยาของบริษัท Johnson & Johnson ไม่มีมาตรฐาน ทำให้ต้องหยุดการทดลอง ซึ่งจะเริ่มกลับมาทดลองใหม่ช่วงอาทิตย์หน้า

นอกจากนี้ ฝั่งเอเชียยังมีบริษัท “CanSino Biologics” และ “Sinovac” ของจีน รวมทั้ง “Bharat Biotech” ที่น่วมมือกับ “National Institute of Virology” ของอินเดีย ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลองระยะที่ 3 แต่ไม่ได้มีรายงานความคืบหน้าล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้น

ถึงแม้จะมีข่าวที่วัคซีนที่สามารถป้องกันโควิด-19 ได้ในประสิทธิภาพสูง แต่ “ดร.คาวิต้า พาเทล” อาจารย์แพทย์จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอ็นบีซีว่า กระบวนการทดลองวัคซีนถูกเร่งความเร็วเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ถึง “ความหวัง” ของมนุษยชาติว่าวัคซีนไม่ไกลเกินเอื้อม


อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานถึงผลข้างเคียงระยะยาว และทางองค์การอาหารและยาทั่วโลกต่างต้องรอสังเกตผลข้างเคียงระยะยาวว่ามีความอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ ซึ่งถ้าหากอันตรายก็ไม่สามารถปล่อยวัคซีนออกมาต่อสาธารณชนได้