เทรนด์สื่อดิจิทัล “ควบรวม” ให้อยู่รอด

เทรนด์สื่อดิจิทัล

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โลกได้พัฒนาเข้าสู่ยุค “ดิจิทัล” ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านเทคโนโลยีมากมายแค่ปลายนิ้ว ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคในการเสพสื่อเปลี่ยนไป และเกิด “สื่อยุคใหม่” หรือที่เรียกว่า “ดิจิทัลมีเดีย”

แพลตฟอร์มสื่อดิจิทัลที่นำเสนอเนื้อหาต่าง ๆ ผ่านเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว พลิกโฉมหน้าการรายงานข่าวเป็นรูปแบบใหม่ นอกจากจะง่ายและสะดวกสำหรับคนอ่านแล้ว ผู้ผลิตสื่อเหล่านี้ก็สามารถผลิตดิจิทัลมีเดียออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ง่ายเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ความง่ายและสะดวกสบายในการผลิต “ดิจิทัลมีเดีย” หรือ “สื่อดิจิทัล” ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กรายใหญ่ รวมทั้งสื่อดั้งเดิมหันมาลงทุนผลิตแพลตฟอร์มดิจิทัลมีเดียมากยิ่งขึ้น การแข่งขันจึงสูงขึ้นมากเป็นเงาตามตัว กดดันให้บางบริษัทต้องใช้วิธี “ควบรวมกิจการ” จากที่เคยเป็น “คู่แข่ง” ก็เปลี่ยนมาเป็น “พันธมิตร” ให้สามารถแข่งขันกับบริษัทสื่อดิจิทัลรายอื่น ๆ ได้

ล่าสุดนิวยอร์กไทมส์รายงานว่าบริษัท “บัซฟีด อิงค์” บริษัทแพลตฟอร์มสื่อดิจิทัลชื่อดัง ประกาศซื้อแพลตฟอร์มสื่อ “ฮัฟโพสต์” ตามเทรนด์การควบรวมกิจการบริษัทสื่อดิจิทัลที่มีให้เห็นมากขึ้น อย่างปีที่แล้วบริษัทสื่อดิจิทัล “วอกซ์ มีเดีย” ได้ซื้อบริษัทนิตยสารออนไลน์ “นิวยอร์ก มีเดีย” ขณะที่บริษัท “ไวซ์ มีเดีย กรุ๊ป” ซื้อบริษัทกิจการสื่อดิจิทัล “รีไฟเนอรี่29”

“โจนาห์ เพอเรตี่” ซีอีโอบัซฟีด และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง “ฮัฟฟิงตัน โพสต์” (ชื่อเดิมของฮัฟโพสต์) ระบุว่าทั้ง “บัซฟีด” และ “ฮัฟโพสต์” จะร่วมกันบริหารจัดการเนื้อหาของทั้งสองแพลตฟอร์ม แต่ยังคงไว้ซึ่งวิสัยทัศน์ สไตล์การนำเสนอเนื้อหารูปแบบเดิม

แหล่งข่าวรายงานว่า ทั้งบัซฟีดและฮัฟโพสต์กำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก โดยบัซฟีดเคยต้องปลดพนักงานถึง 15% หรือ 220 คน เมื่อปี 2019 และจากที่เคยขยายกิจการไปยังสหราชอาณาจักร (ยูเค) ออสเตรเลีย และอินเดีย ก็ต้องปิดตัวลงทั้งหมด เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุน ส่วนฮัฟโพสต์ขาดทุนอย่างมากช่วงโควิด-19 ระบาด จนต้องปลดพนักงานเพิ่ม และเคยพยายามปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเป็นการขายสมาชิกรายเดือน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

นายโจนาห์กล่าวเกี่ยวกับข้อตกลงควบรวมกิจการว่า ต้องการให้ทั้งสองแพลตฟอร์มที่ค่อนข้างต่างกัน เอื้อประโยชน์กันจากการแบ่งปันเนื้อหา ขณะเดียวกัน จะร่วมมือกันคิดค้นเนื้อหาที่น่าสนใจเพื่อให้สามารถขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น นำมาซึ่งสร้างรายได้จากการโฆษณาที่สูงขึ้นเพื่อแข่งกับรายใหญ่ในตลาดได้

คู่แข่งรายใหญ่ของบริษัทดิจิทัลมีเดียขณะนี้ คือ “เฟซบุ๊ก” และ “กูเกิล” ที่แย่งรายได้โฆษณาจากแพลตฟอร์มดิจิทัลมีเดียต่าง ๆ ไป อย่างบริษัทเฟซบุ๊กมีรายได้จากการโฆษณาถึง 6.41 แสนล้านบาท มีกำไร 2.38 แสนล้านบาท ช่วงไตรมาส 3 ปีนี้

และบริษัท กูเกิลของบริษัทแอลฟาเบต อิงก์ มีรายได้ 3.71 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการโฆษณา ขณะที่บริษัท “บัซฟีด” ขาดทุนตั้งแต่ปี 2014 และมีช่วงหนึ่งที่ “ฮัฟโพสต์” ไม่สามารถจ่ายเงินเดือนพนักงานได้จนต้องปลดคนออก

นอกจากนี้ อีกสาเหตุที่ทั้งสองบริษัททำเงินได้น้อยลงมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และต้องการบริโภคสิ่งใหม่ ๆ ทั้งนี้ “สเตฟ ฟรอทซ์” อดีตโปรดิวเซอร์บัซฟีด กล่าวว่า ทางบริษัทต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานทุกไตรมาสให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เมื่อเวลาผ่านไปเนื้อหาวิดีโอสีสันชีวิตซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของบัซฟีดเริ่มไม่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค ความนิยมของแพลตฟอร์มจึงลดลงเรื่อย ๆ และรายได้จากการโฆษณาก็ลดลงเช่นเดียวกัน

การควบรวมกิจการบริษัทสื่อแม้ไม่ใช่สิ่งใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีการรวมตัวกันเพื่อผลทางด้านรายได้จากการโฆษณาเพิ่ม แต่ช่วงเวลานี้ที่ยักษ์ใหญ่อย่าง “เฟซบุ๊ก” และ “กูเกิล” ทำรายได้จากโฆษณาสูงกว่าบริษัทดิจิทัลมีเดียมาก ทำให้กิจการเหล่านี้ต้องควบรวมเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันที่สูง และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา