รุมถล่ม “สตีเวน มนูชิน” วินาศกรรมเศรษฐกิจมะกัน

Times Square in New York
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

กรณีนาย สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ประกาศเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า จะไม่ต่ออายุโครงการปล่อยกู้ฉุกเฉินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด -19 โดยจะต้องสิ้นสุดภายในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ ได้รับเสียงคัดค้านมากมายทั้งจากนักเศรษฐศาสตร์ ภาคธุรกิจ และเฟด เพราะเป็นการตัดสินใจที่ไม่เหมาะสมและไม่มีเหตุผล ไม่มีสิ่งใดจะมาอธิบายได้อย่างสมเหตุสมผล นอกเสียจากแรงจูงใจด้านการเมือง ภายหลังจากทรัมป์แพ้เลือกตั้ง

โครงการปล่อยกู้ฉุกเฉินที่นายมนูชินประกาศว่าจะไม่ต่ออายุนั้น เป็นโครงการที่สภาคองเกรสได้อนุมัติเงินส่วนหนึ่ง 4.54 แสนล้านดอลลาร์ จากงบฯบรรเทาผลกระทบจากโควิดรวมทั้งหมด 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ ให้กับกระทรวงการคลังเพื่อสนับสนุนโครงการปล่อยกู้ฉุกเฉินของเฟด เพื่อปล่อยกู้ให้กับธุรกิจที่กำลังประสบความลำบาก รวมทั้งรัฐบาลท้องถิ่น เมื่อเดือนมีนาคม หลังจากที่เกิดไวรัสโควิดใหม่ ๆ

งบประมาณบรรเทาผลกระทบโควิด 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ดังกล่าว อยู่ภายใต้รัฐบัญญัติชื่อ The Coronavirus Aid, Relief, and Economic Security Act เรียกย่อ ๆว่า CARES Act (คนละอย่างกับ CARE Act ซึ่งเป็นกฎหมายประกันสุขภาพยุครัฐบาลยุคบารัก โอบามา) ผ่านสภาคองเกรสไปเมื่อวันที่ 27 มีนาคมปีนี้ ซึ่งประกอบด้วยมาตรการหลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือการปล่อยกู้ฉุกเฉินแก่ภาคธุรกิจ

การประกาศไม่ต่ออายุโครงการดังกล่าวของนายมนูชิน เกิดขึ้นในขณะที่หลายพื้นที่ของสหรัฐต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นเป็นบางส่วนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด หลังจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ยรอบ 7 วัน ไต่ขึ้นสูงกว่า 1.6 แสนรายต่อวัน สูงกว่าสัปดาห์ก่อนหน้า 26%

คาร์ล ไวน์เบิร์ก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไฮ ฟรีเควนซี อีโคโนมิกส์ ระบุว่า การตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ จะลดความสามารถของเฟดลงอย่างมากในการค้ำจุนระบบการเงิน เป็นการตัดสินใจที่ไม่มีเหตุผลด้านเศรษฐกิจเพราะยังมีชาวอเมริกันหลายล้านคนตกงาน และยังต้องอาศัยเงินช่วยเหลือจากภาครัฐในการดำรงชีวิต ส่วนดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจก็อ่อนแอลง และมีแนวโน้มว่าจะต้องมีการชัตดาวน์ต่อไปเพื่อสกัดไวรัส

“ผมไม่คิดว่ามันมีเหตุผลที่ดีในการที่จะอธิบายว่าทำไมพวกเขาอยากตัดโครงการเหล่านี้ทิ้งในเวลาเช่นนี้ ดังนั้นมันก็น่าจะเป็นเรื่องการเมืองมากกว่าไม่ใช่หรือ”

ไวน์เบิร์กชี้ว่า การยุติโครงการปล่อยกู้ฉุกเฉินดังกล่าวที่ใช้เงินจาก CARES Act ซึ่งคิดเป็นเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ ของวงเงิน 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ เปรียบไปแล้วก็เหมือนการริบเรือช่วยชีวิตไปจากเรือยักษ์ไททานิก โดยหนึ่งในปัญหาขณะนี้ก็คือมันไม่มีเรือช่วยชีวิตอย่างเพียงพออยู่บนเรือไททานิก และเมื่อไททานิกออกจากท่าไปแล้วก็ไม่มีการนำเรือช่วยชีวิตเหล่านี้ออกมาใช้เลย และก็กลายเป็นว่าเมื่อจำเป็นต้องใช้มันขึ้นมา เรือช่วยชีวิตก็ไม่อยู่ที่นั่นเสียแล้ว

“นี่คือเรือช่วยชีวิตสำหรับเศรษฐกิจ นี่คือสถานที่สำหรับบริษัทต่าง ๆ จะไปหา เมื่อพวกเขาไม่มีที่อื่นให้ไปไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดกลางหรือเล็ก บริษัทเล็ก ๆ เหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงตลาดทุนได้เหมือนบริษัทขนาดใหญ่”

การประกาศของนายมนูชิน ทำให้เฟดออกมาแสดงปฏิกิริยาอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะทันที ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น โดยเฟดระบุว่า อยากให้โครงการช่วยเหลือฉุกเฉินต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นช่วงแรก ๆ หลังจากมีไวรัสโควิด ยังคงอยู่ต่อไปครบถ้วนเช่นเดิม เพื่อทำหน้าที่หนุนหลังในยามที่เศรษฐกิจยังคงตึงเครียดและเปราะบาง

ส่วนสภาหอการค้าอเมริกันชี้ว่ามันเป็นการมัดมือ ว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก่อนเวลาอันควร และไม่จำเป็นอีกด้วย เช่นเดียวกับนายรอน ไวเดน วุฒิสมาชิกรัฐโอเรกอน จากพรรคเดโมแครต ชี้ว่า การยกเลิกมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจที่จำเป็นอย่างยิ่งออกไป และสวนทางกับความปรารถนาของเฟดเช่นนี้ คือการก่อวินาศกรรมเศรษฐกิจชัด ๆ เป็นความพยายามที่จะสร้างความเจ็บปวดทางการเมืองให้กับ ว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน

แหล่งข่าวระบุว่า รัฐมนตรีคลังคนใหม่ภายใต้รัฐบาลโจ ไบเดน อาจเลือกที่จะพลิกฟื้นโครงการปล่อยกู้ฉุกเฉินขึ้นมาใหม่ ด้วยการทำข้อตกลงใหม่กับเฟด