ปีหน้า ‘หุ้นยุโรป’ เด่นกว่าสหรัฐ จับตาเทรนด์กลุ่มเทคเริ่มแผ่ว

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

แม้จะเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากไวรัสโควิดมากที่สุดในโลก และเศรษฐกิจได้รับผลกระทบรุนแรง แต่ตลาดหุ้นสหรัฐก็มีความยืดหยุ่นสูง แม้จะร่วงลงอย่างรุนแรงในช่วงแรก จนตกไปอยู่ก้นบ่อ แต่ก็สามารถไต่กลับมาที่เดิมได้ในเวลาไม่นาน มีการสะวิงสูง ตอบสนองต่อข่าวบวกและลบแบบสุดขั้ว และล่าสุดนักลงทุนเฉลิมฉลองกันยกใหญ่เมื่อดัชนีดาวโจนส์สหรัฐทะลุ 30,000 จุด เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. เนื่องจากตลาดตอบรับข่าวดีเรื่องวัคซีนและการเมืองที่ชัดเจนขึ้น หลังจาก “โดนัลด์ ทรัมป์” แสดงท่าทีพร้อมให้เริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจไปให้ว่าที่ประธานาธิบดี “โจ ไบเดน”

การที่หุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นคึกคักและมากกว่าใครทั้งที่สถานการณ์โควิดและเศรษฐกิจยังไม่ได้ดีขึ้นมากนัก ย่อมหมายถึงราคาหุ้นตึงตัวหรือใกล้เต็มมูลค่า

ทำให้นักวิเคราะห์อย่าง “บ็อบ พาร์เกอร์” แห่งควิลเวสต์ เวลท์ แมเนจเมนต์ เชื่อว่า ในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า ตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะตลาดหุ้นยุโรปจะมีการเติบโตและให้ผลกำไรดีกว่าตลาดหุ้นสหรัฐ เพราะว่านักลงทุนจะเริ่มมองหาตลาดและภาคธุรกิจที่จะฟื้นตัวเร็วหลังจากสถานการณ์โควิดบรรเทาลงแล้ว ตลาดที่ว่านั้นต้องเป็นตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตคงทนที่สุด และมูลค่าหุ้นตึงตัวน้อยกว่า

พาร์เกอร์ระบุว่า ตลาดหุ้นในยุโรปที่จะโดดเด่นมากกว่าใครในปีหน้าก็คือ ตลาดหุ้นสเปนและอิตาลี โดยนับแต่ต้นเดือน พ.ย.เป็นต้นมา ตลาดหุ้นสเปนพุ่งขึ้นเกือบ 24% อิตาลี 21% เพราะที่ผ่านมานักลงทุนยังซื้อเข้าพอร์ตต่ำ แต่เมื่อมีความหวังเกี่ยวกับวัคซีน นักลงทุนจึงกลับมาให้ความสนใจซื้อหุ้นในตลาดดังกล่าว ทั้งนี้ เชื่อว่าตลาดหุ้นอังกฤษก็น่าจะเติบโตดีกว่า หรืออย่างน้อยก็เทียบเท่าสหรัฐ

นักวิเคราะห์ของควิลเวสต์ฯอธิบายว่า ตั้งแต่เกิดวิกฤตไวรัสโควิดจนถึงช่วงก่อนเดือน พ.ย. ตลาดหุ้นสหรัฐมีความเคลื่อนไหวนำหน้าตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่น โดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นมากที่สุด แต่ตลอดเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา หุ้นเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นต่ำกว่ากลุ่มอื่น แนวโน้มเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับหุ้นเทคโนโลยีของจีนด้วยเช่นกัน โดยดัชนี CSI 300 ของจีน ในเดือน ต.ค.ปรับตัวขึ้นน้อยกว่าตลาดอื่นในเอเชีย และนับแต่วันที่ 1 พ.ย.ปรับขึ้นไม่ถึง 6% ต่างจากดัชนีหั่งเส็งของฮ่องกง ซึ่งเป็นดัชนีที่รวมหุ้นจากหลายเซ็กเตอร์ ปรับขึ้นถึง 10%

“จิม เครเมอร์” อดีตผู้จัดการกองทุนป้องกันความเสี่ยง ปัจจุบันเป็นพิธีกรรายการแมด มันนี่ ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี กล่าวถึงกรณีดัชนีดาวโจนส์ทำสถิติใหม่ ทะลุ 30,000 จุดเป็นครั้งแรกว่า หากสามารถควบคุมไวรัสได้ ตลาดหุ้นสหรัฐก็จะคึกคักคล้ายกับปี 1933 ที่สิ้นสุดคำสั่งห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็คือวันคืนแสนสุขได้กลับมาอีกครั้ง ต้องขอบคุณนักวิทยาศาสตร์ที่คิดค้นวัคซีน และขอบคุณนักลงทุนหนุ่มสาวที่ช่วยให้ดัชนีดาวโจนส์ทะลุ 30,000 จุด แต่ก็ยอมรับว่าราคาหุ้นบางตัวร้อนแรงเกินไป

ในเดือน ธ.ค.นี้จะครบ 87 ปี นับตั้งแต่สหรัฐสิ้นสุดการห้ามผลิต นำเข้าและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีการออกกฎหมายสั่งห้ามโดยกลุ่มผู้เคร่งศาสนาเป็นเวลา 14 ปี ระหว่างปี 1920-1933 เพราะก่อปัญหาโรคพิษสุราเรื้อรัง ความรุนแรงในครอบครัว และการทุจริตทางการเมือง เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและยกเลิกการแบนสุราในปลายปี 1933 ซึ่งอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ชาวอเมริกันที่อัดอั้นมานาน ได้พากันเฉลิมฉลองครั้งใหญ่ด้วยการดื่มเบียร์ “จิม เครเมอร์” จึงเปรียบเทียบว่า เมื่อมีวัคซีนและคุมไวรัสได้แล้ว เศรษฐกิจและตลาดหุ้นสหรัฐก็จะได้เวลาเฉลิมฉลองคล้ายกับปี 1933


ดัชนีดาวโจนส์เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 29,551 จุด เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ปีนี้ ก่อนที่จะถูกวิกฤตไวรัสโควิดโจมตี กระทั่งโหม่งโลกอย่างแรง ลดลงถึง 38% ไปแตะจุดต่ำสุดที่ 18,200 จุด ในปลายเดือน มี.ค. ใกล้เคียงกับช่วงแรกที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี