‘เศรษฐกิจอินเดีย’ ถดถอย ประชาชนครึ่ง ปท.รายได้ลดลง

หลังจากที่ “อินเดีย” คลายล็อกดาวน์ที่เข้มงวดมากที่สุดในโลก จนทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 2 หดตัวมากเป็นประวัติการณ์ถึง -23.9% กิจกรรมทางเศรษฐกิจอินเดียเริ่มกลับมาฟื้นตัว ทำให้จีดีพีไตรมาส 3 หดตัวเพียง -7.5% แต่ประเทศอินเดียก็ยังไม่พ้นภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย”

อัลจาซีร่ารายงานว่า แม้ช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา อัตราการจ้างงานในอินเดียเกือบกลับมาอยู่ในระดับก่อนโควิดระบาด แต่ “มาเฮล วิยาส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิจัยข้อมูลเศรษฐกิจอินเดีย (CMIE) ระบุว่า ข้อมูลเดือน ต.ค.บ่งชี้ว่า ครัวเรือนถึง 50% มีรายได้น้อยกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุมาจากอาชีพส่วนใหญ่ที่กลับมาหลังช่วงโควิด คือ “กลุ่มเกษตรเพื่อยังชีพ” ทำให้กลายเป็น “การว่างงานแฝง” กล่าวคือคนเหล่านี้แทบไม่มีรายได้ ขณะที่ตำแหน่งงานรายได้สูงที่หายไปก่อนช่วงโควิดระบาดยังไม่กลับมา ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ซึ่งเป็นข้อเสียของเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยการใช้จ่ายของผู้บริโภค

“แม้ว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 จะหดตัวน้อยลง แต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายยังน่าเป็นห่วง”

นอกจากนี้ พบว่าแม้อัตราการจ้างพนักงานรายได้สูงจะลดลง แต่หลาย ๆ บริษัทมีรายได้สูงขึ้น ธนาคารกลางอินเดียระบุว่า บริษัทเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงินมีกำไรสุทธิสูงขึ้นถึง 35% แต่นั่นเป็นผลจากที่บริษัทลดต้นทุน ไม่ใช่ความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น โดย “อูเดย์ ทาราร์” นักเศรษฐศาสตร์บริษัทด้านการลงทุนจีเอ็มโอ กล่าวว่า มาตรการของแต่ละบริษัทตอนนี้คือการลดต้นทุน โดยลดเงินเดือน ทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น และหากเทรนด์นี้ยังดำเนินต่อไป จะมีผลกระทบระยะยาวต่อธุรกิจเพราะเป็นการลดความต้องการของสินค้าและบริการตัวเอง

ทั้งนี้ บริษัทที่ทำกำไรส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ แต่บริษัทเอสเอ็มอีซึ่งเคยเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินเดียให้ขยายตัว ตอนนี้กำลังมีปัญหาอย่างมาก ฟื้นตัวยากหากพื้นฐานธุรกิจไม่สามารถรับมือกับวิกฤตช่วงนี้ได้ รวมทั้งประสบภาวะขาดทุนตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งนักวิเคราะห์เตือนว่าตัวเลขจีดีพีที่ขยับเป็นการคำนวณข้อมูลจากบริษัทใหญ่ แต่อาจจะไม่ได้รวมข้อมูลจากบริษัทรายย่อย

นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียไม่ได้มีกองทุนช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากโควิด-19 มากเหมือนกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ซึ่งนายอูเดย์ระบุว่า รัฐบาลมีงบประมาณรายจ่ายน้อยตั้งแต่ก่อนโรคระบาด โดยอินเดียมีหนี้สาธารณะถึง 68% ของจีดีพี และหลังจากโควิดระบาดซึ่งมีท่าทีว่าหนี้จะเพิ่มขึ้นจากรายได้ประเทศที่ลดลง ทางรัฐบาลจึงตัดสินใจลดการใช้จ่าย

โดย “นเรนทรา โมดี” นายกรัฐมนตรีอินเดีย ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากการที่มีการจัดสรรเงินเพียง 1% ของจีดีพี เพื่อเป็นกองทุนแก้วิกฤตโควิด-19 จากที่สัญญาว่าจะจัดสรรถึง 10% ของจีดีพี แต่ก็มีนักวิเคราะห์บางรายเห็นด้วยว่า ต้องลดหนี้สาธารณะลง เพื่อให้ประเทศไม่เสียเครดิต จากเดิมอยู่ในระดับที่ไม่ดีอยู่แล้ว

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ถ้าหากประชาชน เริ่มได้รับวัคซีนมากขึ้นเรื่อย ๆ เศรษฐกิจบางส่วนของประเทศจะกลับมาฟื้นฟูได้ แต่อินเดียที่มีประชากรถึง 1.35 พันล้านคน อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงและทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเหมือนแต่ก่อนได้