‘เศรษฐกิจออสเตรเลีย’ พ้นภาวะถดถอย เลิกล็อกดาวน์คนแห่ช็อป

จอช ฟรินเดนเบิร์ก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออสเตรเลีย แถลงการณ์อย่างเป็นทางการว่าออสเตรเลียได้ออกจาก “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” หลังสำนักงานสถิติแห่งชาติของออสเตรเลีย (ABS) รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ขยายตัว 3.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว หลังไตรมาส 2 จีดีพีหดตัวลงถึง -7% แสดงให้เห็นถึงความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ

หลังจากที่เศรษฐกิจออสเตรเลียหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกันในครึ่งปีแรก ทำให้ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะ “ถดถอยทางเทคนิค” ครั้งแรกในรอบเกือบ 30 ปีนับตั้งแต่ปี 1991

ไฟแนนเชียล รีวิว รายงานว่าสาเหตุหลักที่เศรษฐกิจออสเตรเลียพลิกมาขยายตัวมาจาก “การใช้จ่ายของผู้บริโภค” (consumer spending) เพิ่มขึ้นถึง 7.9% ในไตรมาส 3 ซึ่งคิดเป็น 60% ของจีดีพี หลังจากลดลง -12.1% ในไตรมาส 2 ส่วนภาคธุรกิจที่มีการขยายตัวมากที่สุดได้แก่อุตสาหกรรมบริการที่มีรายได้เพิ่มขึ้น 9.8% โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม คาเฟ่ และร้านอาหารที่มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 49.7%

เพราะหลังปลดมาตรการล็อกดาวน์ในไตรมาส 3 ผู้บริโภคกลับไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการมากขึ้นกว่าปกติ หลังเผชิญความอึดอัดกับการล็อกดาวน์อยู่บ้านเป็นเวลานาน ซึ่งจากที่ผู้บริโภคใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีสินค้าและบริการในออสเตรเลียก็เพิ่มขึ้นถึง 5% ในไตรมาสนี้ มากที่สุดตั้งแต่มีการเก็บภาษีนี้เมื่อปี 2000

ฟรินเดนเบิร์กกล่าวว่า รัฐบาลออสเตรเลีย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี “สกอตต์ มอร์ริสัน” ได้อัดฉีดเงิน 1.76 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (3.9 แสนล้านบาท) เข้าช่วยเหลือธุรกิจตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้ช่วยให้ธุรกิจสามารถประคองตัวและกลับมาเปิดดำเนินกิจการเป็นปกติหลังล็อกดาวน์ได้

นอกจากนี้ ฟรินเดนเบิร์กคาดว่าไตรมาสสุดท้ายเศรษฐกิจจะฟื้นตัวมากขึ้น จากการปลดล็อกดาวน์ในรัฐวิกตอเรีย ซึ่งมี “เมลเบิร์น” หนึ่งในเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศอยู่ด้วย โดยไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจออสเตรเลียยังสามารถขยายตัวได้ทั้งที่ประชากร 4.9 ล้านคนถูกล็อกดาวน์เกือบ 2 เดือน และช่วงหน้าร้อนปลายปียังเป็นฤดูการท่องเที่ยว และเทศกาลช็อปปิ้งที่ผู้คนจะออกมาใช้จ่ายมากขึ้น

“ตอนนี้ทุกอย่างบ่งบอกถึงสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้จะเกิดขึ้นแค่เพียงไตรมาสเดียว” ฟรินเดนเบิร์กกล่าว

อย่างไรก็ตาม ฟรินเดนเบิร์กยอมรับว่า แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจออสเตรเลียจะพึ่งพาการใช้จ่ายของประชาชนเป็นหลัก แต่ “ความสัมพันธ์ที่เปราะบาง” ระหว่างจีนกับออสเตรเลียที่ตึงเครียดมากขึ้น จะมีผลกระทบอย่างหนักต่อการส่งออกซึ่งเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศ ซึ่งขณะนี้จีนได้ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากออสเตรเลีย อย่างล็อบสเตอร์ เนื้อวัว ไม้ซุง ถ่านหิน และไวน์

นอกจากนี้นักวิเคราะห์บางคนไม่เห็นด้วยกับที่รัฐบาลออกมาประกาศว่า ออสเตรเลียหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว “เฟลิซิตี้ เอ็มเมตต์” นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอเอ็นซี กล่าวว่า ยังมีแรงงานถึง 17.4% ที่ว่างงานหรือมีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิต ซึ่งคงต้องใช้เวลานานกว่าจะเรียกได้ว่า “เศรษฐกิจฟื้นตัว”

ส่วน “จิม ชาร์ลเมอร์” ส.ส.ฝ่ายค้านออกมาโต้ว่า ประชากร 2.4 ล้านคนที่ว่างงานหรือกำลังหางานทำ คงไม่เห็นด้วยกับการที่บอกว่าเศรษฐกิจออสเตรเลียออกจาก “ภาวะถดถอย”